การศึกษาวิจัยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงครามความความคิดเห็นของสัทธิวิหาริก มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์ จังหวัดสมุทรสงครามตามความคิดเห็นของสัทธิวิหาริก ๒) เพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์ จังหวัดสมุทรสงครามตามความคิดเห็นของสัทธิวิหาริก โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของสัทธิวิหาริกต่อการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม ดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่พระภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกในจังหวัดสมุทรสงครามทั้งหมดจำนวน ๔๐๐ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามการวัดระดับความคิดเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม แบ่งออกเป็น ๔ ตอน คือ ตอนที่ ๑ สถานภาพส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม ตอนที่ ๒ เป็นแบบสอบถามที่มีมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ มีความเชื่อมั่น ๐.๙๕๘๕ ตอนที่ ๓ ผลของการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ และข้อเสนอแนะในการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์ในจังหวัดสมุทรสงคราม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) และใช้สถิติทดสอบสมมติฐานโดยทดสอบค่าเอฟ (F – test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way analysis of variance) และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) และตอนที่ ๔. ผลการสัมภาษณ์พระมหาเถระผู้ปกครองคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Technique)
ผลการวิจัยพบว่า
๑.สัทธิวิหาริกมีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงครามโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๓๘ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า สัทธิวิหาริก มีความคิดเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม ในด้านการปกครองและการให้การสงเคราะห์อยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๖๐ และ ๓.๕๙ ส่วนด้านการจัดการศึกษาและด้านการพยาบาล อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๐๘ และ ๓.๒๗
๒. การเปรียบเทียบความคิดเห็นการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ พรรษา วุฒิการศึกษาทางธรรม วุฒิการศึกษาทางบาลี และวุฒิการศึกษาทางสามัญ พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคลที่ทำให้ความคิดเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. จากการสัมภาษณ์พบว่า พระอุปัชฌาย์และคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงครามควรให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของทั้งพระอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริกอย่างเป็นรูปธรรม และควรจัดอบรมหลักสูตรเฉพาะ เพื่ออบรมถวายความรู้แก่พระอุปัชฌาย์ที่เนื้อหาในเชิงให้ความรู้ตาม พระธรรมวินัยมากกว่าเชิงพิธีกรรม เพื่อให้พระอุปัชฌาย์นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปใช้ในการปกครองดูแลสัทธิวิหาริกของตนอย่างมีคุณภาพต่อไป และพระอุปัชฌาย์ควรให้ความสำคัญในกระบวนการคัดสรรผู้ที่จะเข้ามาอุปสมบทให้มากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบันนี้ เพื่อจะได้อุปสัมปทาเปกขะผู้มีความตั้งใจจริงในการเข้ามาอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่มีคุณภาพจริงๆ
ข้อเสนอแนะการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์ของคณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสงครามตามความเห็นของสัทธิวิหาริกจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่พระอุปัชฌาย์นั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา พระอุปัชฌาย์ต้องให้ความสำคัญและควรคำนึงถึงเอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพของสัทธิวิหาริกได้อย่างมีประสิทธิภาพได้
|