การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ : (๑) เพื่อศึกษาบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของพระภิกษุสามเณรที่มีต่อบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการพัฒนาบทบาทของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์อำเภอมหาราชจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดำเนินการวิจัยโดยวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บข้อมูลจากพระสังฆาธิการ และพระภิกษุสามเณรอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๒๓๐ รูป โดยวิธีสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster sampling) เครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) ลักษณะของแบบสอบถามมีทั้งแบบปลายปิดและปลายเปิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way analysis of variance) และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญที่น้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความคิดเห็นของพระภิกษุสามเณรที่มีต่อบทบาทในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้ง ๖ ด้าน ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๕๔ ) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ความคิดเห็นในด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการสาธารณูปการ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ อยู่ในระดับมาก ส่วนความคิดเห็นในด้านการศึกษาสงเคราะห์ และด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อยู่ในระดับปานกลาง
๒. เปรียบเทียบความคิดเห็นของพระภิกษุสามเณร ที่มีต่อบทบาทในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการอำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคลโดยรวม กลุ่มตัวอย่างที่มีสถานภาพ อายุพรรษา วุฒิการศึกษาสายสามัญ และวุฒิการศึกษาทางธรรม ต่างกัน มีความคิดเห็นไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีวุฒิการศึกษาทางเปรียญธรรม ต่างกัน มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ซึ่งยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๓. ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหานั้นก็คือ พระสังฆาธิการควรให้ความสำคัญกับการพัฒนางานด้านการศึกษาสงเคราะห์ และด้านการเผยแผ่พระพุทะศาสนาให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะงานด้านการศึกษาสงเคราะห์นั้นถือว่ามีความสำคัญในการพัฒนาสังคม และการพัฒนาองค์การคณะสงฆ์ ส่วนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ก็มีความสำคัญในการสอนให้บุคคลทั่วไปยึดหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เป็นการสร้างความมั่นคงและส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองด้วย
ดาวน์โหลด
|