การศึกษาวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการวัดเขาช่องพรานจังหวัดราชบุรี มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารจัดการวัดเขาช่องพราน ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารจัดการวัดเขาช่องพราน จังหวัดราชบุรี และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัดเขาช่องพราน จังหวัดราชบุรี
ศึกษาวิจัยโดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ผู้นำชุมชน ข้าราชการ ประชาชน นักเรียน และผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงรอบวัดเขาช่องพราน จำนวน ๔๐๐ คน ซึ่งใช้การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่ม (Cluster Sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับแบบสอบถามปลายเปิด และแบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เปรียบเทียบความแตกต่างโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) โดยกำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
ผลการศึกษาพบว่า
(๑) ประชาชน มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการวัดเขาช่องพราน จังหวัดราชบุรี โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๘๗ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ทั้งด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้านการสาธารณูปการ และด้านการสาธารณสงเคราะห์ พบว่า ประชาชน มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการวัดเขาช่องพราน อยู่ในระดับมากทุกด้าน
(๒) การเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนชนต่อการบริหารจัดการวัดเขาช่องพรานจังหวัดราชบุรี จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล พบว่าประชาชนที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ และประสบการณ์ในการเข้าวัดที่ต่างกัน มีความคิดเห็นไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
(๓) ผลการศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการวัดเขาช่องพราน จังหวัดราชบุรี ปัญหาในการบริหารจัดการวัดได้แก่ ปัญหาเรื่องการขาดทรัพยากรของวัดหรือบุคลากรหรือทีมงานในการทำปฏิบัติหน้าที่ด้านต่างๆ ในงานทั้ง ๖ ด้าน นั้นมีข้อจำกัด เพราะวัดพื้นที่กว้างขวางมาก ตลอดจนการบริหารจัดการวัดยังผูกขาดอยู่กับเจ้าอาวาสเพียงรูปเดียว ทำให้การควบคุมดูแลไม่ทั่วถึง ข้อเสนอแนะควรมีการเพิ่มทรัพยากรหรือบุคลากรที่สำคัญ และมีคุณภาพ ตลอดทั้งสร้างทีมงานในการทำหน้าที่ในงานด้านต่างๆ ควรจัดระบบระเบียบกระจายงานกระจายอำนาจหน้าที่ให้แก่บุคลากรที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเหมาะสม การบริหารจัดการวัดเขาช่องพรานก็จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
|