การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูและนักเรียนต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของครูและนักเรียนต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรค และแนวทาง พัฒนาบทบาทของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ครู และนักเรียน สังกัดโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนบัวแก้วเกษร โรงเรียนวรราชาทินัดดามาตุวิทยา โรงเรียนเมตตาประชาสรรค์ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ๔๑๒ คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถาม มีลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการและมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับ และแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๘๑๕๒ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์เพื่อหาค่าความถี่ (Frequency) ร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการหาค่าที (t-test)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. ความคิดเห็นของครูและนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โดยภาพรวมครู เป็นเพศหญิงมากที่สุด จำนวน ๖๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๒.๗ และอยู่ในสังกัดโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมากที่สุด จำนวน ๓๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๗
สำหรับนักเรียน เป็นเพศหญิงมากที่สุด จำนวน ๑๙๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๗.๘ และอยู่ในสังกัดโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยวิทยามากที่สุด คิดเป็นร้อยละ ๓๔.๒
๒. การเปรียบเทียบความคิดเห็นของครูและนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี พบว่า ครูและนักเรียนมีความคิดเห็นต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ด้านการเตรียมการสอน, ด้านการดำเนินการสอน และด้านการวัดผลและการประเมินผลการเรียนไม่แตกต่างกันจึงไม่เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้
๓. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะของครูและนักเรียนที่มีต่อบทบาทของพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี คือ ความอิสระในการปฏิบัติงานนั้น ถูกจำกัดเวลามากเกินไป ส่วนนโยบายและการบริหารนั้น ผู้บริหารการศึกษาขาดการสนับสนุน ด้านการยอมรับนับถือ จึงไม่มีการยอมรับอย่างแท้จริงและขาดการประสานงานระหว่างผู้บริหาร คณะครูอาจารย์และนักเรียนไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรสื่อการเรียนการสอนไม่เพียงพอ และขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนการสอน ครูและพระสงฆ์ขาดการแลกเปลี่ยนเทคนิคการสอน การผลิตสื่อ ซึ่งพระสอนศีลธรรมมีความตั้งใจอย่างมาก แต่นักเรียนไม่เห็นความสำคัญเท่าที่ควร และปัญหาอีกประการหนึ่งคือ ขาดการวางแผนการเรียนการสอน การจัดตารางเรียนและการประเมินผล
ดาวน์โหลด
|