การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษาในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี (๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษาในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และ (๓) เพื่อศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อการสอนศีลธรรมในสถานศึกษาของพระภิกษุ ในสถานศึกษาในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้กำหนดกลุ่มประชากรคือ นักเรียนในโรงเรียนที่พระภิกษุเข้าไปทำการสอนศีลธรรมในโรงเรียน ในจังหวัดสระบุรี ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามแบบตรวจสอบรายการ (Check-list) และมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) แล้ววิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลวิจัยพบว่า
๑. กลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน ๒๗๘ คน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม มีระดับธรรมศึกษาชั้นโท มากที่สุด ร้อยละ ๕๙.๕๐ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ ๗๕.๕๐ มีอายุระหว่าง ๑๑-๑๕ ปี มากที่สุด ร้อยละ ๔๘.๙๐ กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๘๒.๐๐ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับแม่ ร้อยละ ๗๑.๒๐ ส่วนใหญ่มีบิดาประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ ๖๑.๒๐ มีมารดาประกอบอาชีพค้าขาย ร้อยละ ๔๑.๗๐
๒. บทบาทของพระสงฆ์ต่อการสอนศีลธรรมในสถานศึกษาในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน ๒๗๘ คน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามมีความคิดเห็นต่อสภาพการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษา ในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อจำแนกรายด้าน พบว่า มีความคิดเห็นต่อสภาพการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษาในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ด้านการใช้อุปกรณ์ในการสอนสูงที่สุด รองลงมาคือ ด้านการใช้วิธีการสอน และสุดท้ายได้แก่ด้านการสร้างบรรยากาศในห้องเรียน
๓. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบความแตกต่าง ความคิดเห็นต่อบทบาทของพระสงฆ์ต่อการสอนศีลธรรมในสถานศึกษาในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จำแนกตามสถานภาพระดับชั้นธรรมศึกษา เพศ อายุ ระดับการศึกษา สถานภาพทางครอบครัว บิดาประกอบอาชีพ และมารดาประกอบอาชีพ พบว่า นักเรียนที่มีระดับชั้นธรรมศึกษา เพศ ระดับการศึกษา อาชีพของบิดา และอาชีพของมารดาที่แตกต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการ จัดการเรียนการสอนศีลธรรมไม่แตกต่างกัน ส่วนนักเรียนที่มีอายุ สถานภาพทางครอบครัวที่แตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนศีลธรรม แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .๐๕
๔. ปัญหาและอุปสรรคต่อบทบาทของพระสงฆ์ต่อการสอนศีลธรรมในสถานศึกษาในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี จากผลการวิจัย พบว่า ยังขาดอุปกรณ์ในการสอนที่ทันสมัยและเหมาะสม ไม่มีห้องส่งเสริมศีลธรรมโดยเฉพาะ ไม่ค่อยมีการสนทนาซักถามนักเรียน ไม่มีการทดสอบก่อนและหลังเรียน ไม่มีการสรุปอภิปรายผลเพื่อให้เกิดความหลากหลายยิ่งขึ้น เป็นต้น
ดังนั้น พระสอนศีลธรรม ควรจะมีอุปกรณ์ในการสอนและมีความทันสมัยมากขึ้นตามยุคตามสมัย มีการทดสอนก่อนและหลังเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสนทนาโต้ตอบบ้าง มีการจัดกิจกรรมกลุ่มการเรียนรู้บ้าง มีการสาธิตยกตัวอย่างประกอบบ้าง มีการสรุปรายผลแบบปลายเปิดให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น และจะต้องให้ความสำคัญเอาใจใส่ดูแลต่อนักเรียนของตนที่รับผิดชอบอยู่ให้ทั่วถึงทุกด้าน เริ่มตั้งแต่กระบวนการจัดกิจกรรมกลุ่ม สร้างแรงจูงใจแก่นักเรียนทั้งหมดซึ่งนับว่าเป็นความคาดหวังการเรียนการสอนศีลธรรมแก่นักเรียนธรรมศึกษาที่ถูกต้องดีงาม ที่สามารถจะพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดประสิทธิผลทั้งตัวพระสอนศีลธรรมเอง และนักเรียนธรรมศึกษา ก็จะเป็นผลดีต่อการดำรงพระพุทธศาสนา สืบทอดอายุของพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบต่อไปกาลนาน
ดาวน์โหลด
|