การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมการบูชาปู่ตาของชาวอีสาน (๒) เพื่อศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมการบูชาปู่ตาของชาวบ้านหนองแวงโสกพระและชาวบ้านหนองแวงโคตร อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น (๓) เพื่อศึกษาคุณค่าความเชื่อในพิธีกรรมการบูชาปู่ตาของชาวบ้านหนองแวงโสกพระและชาวบ้านหนองแวงโคตร อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการเก็บข้อมูลจากแบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้แก่ชาวบ้านหนองแวงโสกพระ และหนองแวงโตคร วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณาวิเคราะห์ตามแบบอุปนัย
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความเชื่อและพิธีกรรมการบูชาปู่ตาของชาวอีสาน พบว่าชาวอีสานจึงต้องพึ่งพาอาศัยป่าไม้และธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต โดยการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ บางปีสภาพดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก เกิดภัยธรรมชาติ แห้งแล้ง จึงทำให้เกิดความเกรงกลัวต่ออำนาจเหนือธรรมชาติลึกลับ เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อเรื่องผีสาง เทวดาอารักษ์ จึงมีการเซ่นสรวงบูชาอ้อนวอนให้ป้องกันรักษา ให้เกิดความปลอดภัย ดังนั้น ชาวอีสานจึงมีพิธีกรรมการบูชาปู่ตา ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษ
๒. ชาวบ้านหนองแวงโสกพระและชาวบ้านหนองแวงโคตร ตำบลหนองแวงโสกพระ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น มีความเชื่อเรื่องพิธีกรรมการบูชาปู่ตา ว่ามีจริงเพื่อขอโชค ขอลาภ หรือสิ่งที่ตนเองอยากได้ เพื่อให้ดลบันดาลความสำเร็จสมดั่งปรารถนา แม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริง และมีอำนาจคุ้มครองปกป้อง รวมทั้งอวยพรอวยชัยให้ผู้ที่มาบนบานสานกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ ให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ค้าขาย ทำงาน เรียนหนังสือ รวมไปถึงชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข
๓. คุณค่าของพิธีกรรมการบูชาปู่ตาของชาวบ้านหนองแวงโสกพระและชาวบ้านหนองแวงโคตร พบว่ามี ๕ ด้าน คือ
(๑) คุณค่าด้านปัจเจกบุคคล การบูชาปู่ตา ช่วยทำให้บุคคลมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีที่พึ่งพึงทางใจให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย อุ่นใจ และทำให้บุคคลเกิดการยับยั้งช่างใจในการประพฤติผิดจากฮีตคองประเพณีของชุมชนเพราะเกิดความยำเกรงในอำนาจของผีปู่ตานั่นเอง
(๒) คุณค่าด้านครอบครัว คุณค่าพิธีกรรมการบูชาปู่ตาทำให้เกิดความสามัคคีในครอบครัว และทำให้เกิดการถ่ายทอดประเพณีการไหว้ผีบรรพบุรุษ ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวเกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้อาวุโส เคารพเชื่อผู้ใหญ่ พิธีกรรมการบูชาปู่ตาจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจไว้ของครอบครัวด้วย (๓) คุณค่าด้านสังคม พิธีกรรมการบูชาปู่ตา ทำให้เกิดความเชื่ออันเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตของบุคคลในชุมชน เกิดระเบียบทางสังคมขึ้น เกิดความสามัคคีในสังคม มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน เกิดความพร้อมเพรียงกันเป็นหมู่คณะ ทำให้สังคมเป็นกลุ่มเป็นก้อน จึงช่วยลดปัญหาต่างๆ ในสังคม
(๔) คุณค่าด้านเศรษฐกิจ พิธีกรรมการบูชาปู่ตามีผลต่อทางจิตใจของบุคคล มีผลต่อการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคลให้ดำเนินชีวิตไปตามฮีตคองประเพณีหรือวิถีชีวิตที่ดีงามของชุมชนอีสาน ทำให้บุคคลมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีที่พึ่งพิงทางใจให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย อุ่นใจ และทำให้บุคคลเกิดกำลังใจในการทำกิจการงานต่างๆ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดระเบียบทางสังคม ทำให้สังคมมีความสงบสุขเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความเรียบร้อย เกิดความสามัคคี รักใคร่กลมเกลียวกัน มีความพร้อมเพรียงกันเป็นหมู่คณะ ทำให้สังคมเป็นกลุ่มเป็นก้อน ผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จึงมีส่วนส่งผลต่อทางด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
(๕) คุณค่าด้านพระพุทธศาสนา คุณค่าพิธีกรรมการบูชาปู่ตาก่อให้เกิดผลดีต่อพระพุทธศาสนา พิธีกรรมการบูชาปู่ตาจึงทำให้วัดและพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานบุญ ที่เชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับผีหรือวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว พระพุทธศาสนามีความมั่นคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนในเรื่องบุญบาป ความดีความชั่วในขณะที่ความเชื่อในผีปู่ตานั้นก็เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนด้วย ในแง่ความรู้สึกปลอดภัยสบายใจ
|