หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปลัดกำพล ปญฺญาวุฑฺโฒ (กวางแก้ว)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๑ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์กรรมของพระเทวทัตที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระปลัดกำพล ปญฺญาวุฑฺโฒ (กวางแก้ว) ข้อมูลวันที่ : ๐๖/๐๘/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี
  อานนท์ เมธีวรฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

  งานวิจัยเรื่อง“วิเคราะห์กรรมของพระเทวทัตที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท” มีจุดประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาหลักกรรมที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาการกระทำกรรมของพระเทวทัต ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลกรรมของพระเทวทัตที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท

             ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้อย่างชัดเจนถึงหลักกรรมในฐานสูตร และ  จูฬกัมมวิภังคสูตร ว่า “เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” จากพุทธพจน์นี้ ถือได้ว่าเป็นหลักกรรมที่ครอบคลุมและชัดเจนมากที่สุด กรรมนั้นย่อมให้ผลอย่างแน่นอน กรรมจึงเปรียบเสมือนสมบัติที่ตนเองพึงจะได้รับทั้งในปัจจุบันและในอนาคต   ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีกรรมเป็นของตน ตามความหมายของกรรม ประเภทของกรรม ลักษณะของกรรม และแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทตัวการสำคัญที่กำหนดให้มนุษย์หรือสัตว์กระทำดีหรือเลวนั่นก็คือเจตนานั่นเอง

             ในอดีตชาติ พระเทวทัตมีเจตนาที่เป็นอกุศลกรรม กระทำกรรมทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ด้วยเหตุนี้ กรรม หรือ การกระทำในอดีตชาติของพระเทวทัตจัดเป็นกรรมชั่ว หรือ อกุศลกรรม ในทางพระพุทธศาสนา

             ในปัจจุบันชาติ ก่อนบวชเจ้าชายเทวทัตมีเจตนาเป็นอกุศลกรรม ต่อมา หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงออกบวชได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า เจ้าชายเทวทัตมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า เกิดเจตนาที่เป็นกุศลกรรมได้ประพฤติกรรมดี ละลายมานะ และมิจฉาทิฏฐิ  ได้หมด มีความประพฤติดี สามารถประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญสมณะธรรมจนได้ฌาณมีฤทธิ์มากแต่ภายหลังถูกอำนาจของกิเลสครอบงำทำให้ก่อกรรมชั่ว จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตได้สำนึกผิดในการกระทำของท่าน ได้ถวายกระดูกคางเป็นพุทธบูชา สุดท้ายแล้วท่านก็มิได้ยึดถือเอาความชั่วเป็นหลักในการดำเนินชีวิตเพียงอย่างเดียว ท่านยังมีความสำนึกผิดถึงกรรมชั่วทำอย่างไรก็ไม่สามารถทำให้ชีวิตมีความสุขสงบได้อย่างยั่งยืนถาวร กรรมดีหรือความดีเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุขสงบได้อย่างยั่งยืนถาวร   

             ผลกรรมของพระเทวทัตที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท ในอดีตชาติ ทั้ง ๗๘ ชาดก เป็นอกุศลกรรมตามหลักกรรม ๒ ผลกรรมส่งผลให้ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตามหลักกรรม ๓ ซึ่งเป็นช่องทางการทำกรรม จัดว่าเป็นกรรมดำ ตามหลักกรรม ๔ กรรมนี้ส่งผลให้พระเทวทัต หรือ ทุฏฐกุมาร ได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน เสื่อมจากลาภ เสื่อมจากยศ และเสื่อมจากการสรรเสริญตามหลักเกณฑ์การให้ผลของกรรม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕