การวิจัยครั้งนี้วัตถุประสงค์การศึกษา ๓ ประการ คือ (๑) ศึกษาตจปัญจกกรรมฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท(๒)ศึกษาการเจริญตจปัญจกกรรมฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) เพื่อศึกษาแนวทางนำการเจริญตจปัญจกกรรมฐานใช้ในชีวิตประจำวัน
ผลการศึกษาพบว่า
ตจปัญจกกรรมฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า ตจปัญจกกรรมฐาน หมายถึง เกสา (ผม) โลมา (ขน) นขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตโจ (หนัง) ควรพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของปฏิกูลไม่ควรยินดี ความสำคัญของตจปัญจกกรรมฐาน คือ การพิจารณากรรมฐานซึ่งเป็นอสุภกรรมฐานอย่างหนึ่ง ส่วนพิจารณามี ๕ ประเภท ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง จุดมุ่งหมายเพื่อเข้าใจในร่างกายสังขารอันปรุงแต่งของกิเลส สิ่งเหล่านี้เป็นของปฏิกูล ผู้หวังความหลุดพ้นจึงต้องพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อนเป็นลำดับแรก
การเจริญตจปัญจกกรรมฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า การเจริญ ตจปัญจกกรรมฐาน ถือเป็นหนึ่งในหลักมหาสติปัฏฐานสูตร มีวิธีการปฏิบัติที่ทำให้เกิดสติ คือ สติที่เป็นไปในกาย หรือการพิจารณากาย เรียกว่า “กายานุปัสสนา” คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาในสิ่งทั้งหลาย ให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง และกำกับดูแลสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลายโดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยให้เกิดความยินดี ยินร้าย การปฏิบัติ คือ พิจารณาตั้งแต่ลมหายใจเข้า- ออก พร้อมทั้งอุบายในการพิจารณาอย่างประณีต นอกจากนั้นให้พิจารณาอิริยาบถบรรพ สัมปชัญญะบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ และนวสีวถิกถาบรรพ เป็นลำดับไป และอานิสงส์ของการเจริญ และปฏิบัติตจปัญจกกรรมฐานจะทำให้มีสติมั่นคง มีอุปนิสัยอ่อนโยน อินทรีย์แก่กล้า และเมื่อล่วงลับไปก็ไปเกิดในสุคติภูมิ
แนวทางการเจริญการนำตจปัญจกกรรมฐานไปใช้ในชีวิตประจำวัน พบว่าทำให้ผู้เจริญตจปัญจกกรรมฐานจะเข้าใจแนวทางการพิจารณาตนเองและสังคมแนวทางสำหรับผู้ปฏิบัติที่เป็นบรรพชิตเป็นพระคฤหัสค์ก็สามารถปฏิบัติได้เช่นเดียวกันที่สำคัญรู้หลักในการดำเนินชีวิตไม่หลงมัวเมาในร่างกายอันเป็นสิ่งปฏิกูล ทำให้การประกอบอาชีพการงานต่างๆ ดำเนินไปได้ด้วยดี และสามารถอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังบรรลุธรรมขั้นสูง เมื่อมีการปฏิบัติเจริญปัญจกกรรมฐานอยู่อย่างต่อเนื่อง
|