การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสาเหตุของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาจริยธรรมของนักเรียนในโรงเรียนอำเภอสีคิ้ว สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๔ ตามทัศนะของผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน จำแนกตามสถานภาพ การปฏิบัติงานของครู ประเภทโรงเรียน และขนาดโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ข้าราชการครู สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต ๔ จำนวน ๒๓๘ คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า จำนวน ๕๐ ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย (X̅) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (T-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ระดับสาเหตุของปัญหาจริยธรรมของนักเรียน โดยรวม อยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมาก จำนวน ๑ ด้าน ได้แก่ ด้านอิทธิพลของสื่อมวลชน และอยู่ในระดับปานกลาง จำนวน ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมทางบ้าน ด้านอิทธิพลของกลุ่มเพื่อน และด้านการเรียนการสอนในโรงเรียน ตามลำดับ
๒. การเปรียบเทียบระดับสาเหตุของปัญหาจริยธรรมของนักเรียนตามทัศนะของ ผู้บริหารโรงเรียน กับ ครูผู้สอน โดยรวมและรายด้าน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ ทุกด้าน จำแนกตามประเภทโรงเรียน โดยรวม พบว่า มีระดับสาเหตุของปัญหาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ จำแนกออกเป็นรายด้าน พบว่า มีระดับสาเหตุของปัญหาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ จำนวน ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนการสอนในโรงเรียน ด้านอิทธิพลของกลุ่มเพื่อน และด้านอิทธิพลของสื่อมวลชน จำแนกตามขนาดของโรงเรียน โดยรวมและรายด้าน พบว่า ไม่มีระดับสาเหตุของปัญหาที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๓. แนวทางการแก้ไขปัญหาจริยธรรมของนักเรียน (๑) ด้านสภาพแวดล้อมทางบ้าน พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่างที่ดี รับฟังปัญหาของลูกและสร้างความผูกพันมอบความรักความอบอุ่น แนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง (๒) ด้านการเรียนการสอนในโรงเรียน โรงเรียนควรเน้นจริยธรรมในกิจกรรมการเรียนการสอนให้ต่อเนื่อง และให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมในชั่วโมงกิจกรรมการเรียนการสอนตลอดปี (๓) ด้านอิทธิพลของกลุ่มเพื่อนครูควรเฝ้าระวังพฤติกรรมของนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ แนะนำการประพฤติตนของนักเรียนให้เหมาะสมกับสถานที่และจัดตั้งเครือข่ายประพฤติดีจิตอาสาร่วมทำกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ตามความเหมาะสมกับวัย และ (๔) ด้านอิทธิพลของสื่อมวลชน รัฐควรเข้ามาควบคุมดูแลคัดกรองรายการสื่อต่างๆ อย่างจริงจัง และสื่อควรมีมาตรการในการนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง มีความเหมาะสมกับวัยของเด็กในช่วงเวลาที่เด็กได้มีโอกาสชมสื่อ
|