วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาเรื่องกัลยาณมิตรในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาบทบาทและความสำคัญของกัลยาณมิตรในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อศึกษาความสำคัญของกัลยาณมิตรที่มีอิทธิพลต่อพุทธศาสนิกชนไทย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา คือพระไตรปิฎก หนังสือ เอกสารทางวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผลการวิจัย พบว่า กัลยาณมิตรที่พระพุทธเจ้าตรัสมุ่งหมายเอาคุณงามความดีของบุคคลที่เป็นมิตรแท้ ชักชวนหรือแนะนำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์เกื้อกูล แก่บุคคลอื่น และความเป็นกัลยาณมิตรของสิ่งแวดล้อม คือ ที่อยู่อาศัย แผ่นดิน ต้นไม้ แม่น้ำ เป็นต้น เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม
ลักษณะของกัลยาณมิตรในพระไตรปิฎกนั้น พบว่า เป็นลักษณะของบุคคลที่ประกอบด้วยคุณธรรม มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีทั้งกัลยาณมิตรที่เป็นระดับโลกียะ มีคุณธรรมที่พร้อมจะเป็นที่พึ่งให้กับตนเองและผู้อื่น พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ ส่วนกัลยาณมิตรในระดับโลกุตระนั้น เป็นกัลยาณมิตรในระดับสูงสุดมีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ซึ่งพร้อมที่จะนำพาสรรพสัตว์ให้ดำเนินตามทางอริยมรรคจนบรรลุคุณธรรมชั้นสูง พ้นจากทุกข์เข้าถึงนิพพานได้
วิเคราะห์ความเป็นกัลยาณมิตรของพุทธสาวกไทยในปัจจุบัน พบว่า มีเทคนิคในการสอนและปฏิบัติที่ดีสามารถบอกแนะนำชี้แนวทางให้พุทธศาสนิกชนได้พัฒนากายและจิต มีการดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง อริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อเข้าถึงความสุขในปัจจุบัน และเข้าถึงอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นทางพ้นทุกข์
ปัญหาของสังคมไทยคือ ปัญหาการเมืองการปกครอง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาศีลธรรม ปัญหาติดอบายมุข ปัญหาการค้าประเวณี ปัญหาการเสพสิ่งเสพติด ปัญหาการก่อการทะเลาะวิวาท ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการศึกษา และปัญหาเด็กนักเรียนติดเกมเป็นต้น ปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะขาดกัลยาณมิตร
|