หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาทองเติม อาจารสุโภ (สายคำ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๔ ครั้ง
ทัศนคติของสามเณรผู้เรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สำนักศาสนศึกษา วัดบูรพาภิราม อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ที่มีต่อการศึกษาบาลี
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาทองเติม อาจารสุโภ (สายคำ) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาประมวล ฐานทตโต
  ประยูร แสงใส
  ประจัญ จันเติบ
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

            วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์  ๓  ข้อคือ (๑) เพื่อศึกษาพัฒนาการการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน (๒) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี  ของสำนักศาสนศึกษาวัด

บูรพาภิราม และ (๓) เพื่อศึกษาทัศนคติต่อการเรียนบาลีของเจ้าสำนักศาสนศึกษา ครูสอนและสามเณรผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สำนักศาสนศึกษาวัดบูรพาภิราม

ผลการศึกษาพบว่า การศึกษาพระปริยัติธรรมสมัยกรุงสุโขทัย เป็นการศึกษาจากพระไตรปิฎก ยังไม่มีระบบการจัดการศึกษาที่ชัดเจน ต่างจากสมัยอยุธยาที่มีระบบการจัดการศึกษาที่ชัดเจน  สมัยล้านนาถือว่าเป็นยุคทองของการเรียนบาลี เพราะมีผลงานวรรณคดีบาลีหลายเล่ม สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา มีการปรับเปลี่ยนระบบบาเรียนมาเป็นประโยค ๑ ถึง ๙  ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้เปลี่ยนการสอบปากเปล่ามาเป็นแบบข้อเขียนการจัดการศึกษาบาลีในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนระบบการประเมินผลใหม่ โดยให้ผู้สอบประโยค ๑ ๒ ถึง ๕ได้บางวิชา มีการสอบซ่อมภายในปีนั้นได้

 

การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของสำนักศาสนศึกษาวัดบูรพาภิราม พบปัญหาหลัก  ๒  ประการ  คือ  ๑)  การหาเด็กและเยาวชนเข้ามาบวชเรียนได้ยาก   ๒)  สามเณรนักเรียนขาดความเพียรที่จะเรียนบาลี ซึ่งต่อมาสำนักศาสนศึกษาวัดบูรพาภิราม ใช้วิธีประชาสัมพันธ์และสร้างแรงจูงใจจนได้เด็กเข้ามาบวชเรียนและจัดการเรียนการสอนประโยค ๑-๒-ป.ธ.๔ ส่วนครูสอนจัดนิตยภัตถวายประจำ ด้านสวัสดิการของนักเรียน เจ้าสำนักเรียนและชาวพุทธได้อุปถัมภ์ปัจจัย ๔ ดูแลเวลาอาพาธ

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติของผู้บริหาร ครูและสามเณรที่มีต่อการจัดการศึกษาพระปริยัติแผนกบาลีของสำนักศาสนศึกษาวัดบูรพาภิราม สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้

ด้านหลักสูตร  พบว่า หลักสูตรมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนการสอน คิดเป็นร้อยละ ๔๑.๗ สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต และมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนการสอน คิดเป็นร้อยละ ๒.๘, ด้านครูสอน  พบว่า ครูตรงต่อเวลาสอน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๐ ควรมีโครงการพัฒนาครูสอนบาลี และมีการนำเข้าสู่บทเรียนที่เหมาะสม คิดเป็นร้อยละ ๒.๘,  ด้านการจัดการเรียนรู้  พบว่า ความเหมาะสมของอาคารสถานที่ คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๐ การเรียนแต่ละหัวข้อมีการแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ทุกครั้ง คิดเป็นร้อยละ ๕.๖, ด้านกิจกรรมการเรียนรู้  พบว่า นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม คิดเป็นร้อยละ ๔๔.๔ ควรจัดการศึกษาเป็น  ๒  ภาคเรียน  นักเรียนมีส่วนร่วมมีกิจกรรมน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา  คิดเป็นร้อยละ  ๒.๘    ด้านการวัดผลและประเมินผล  พบว่า ควร มีการทดสอบความรู้พื้นฐานก่อนเรียน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๐ ด้านสื่อการเรียนการสอน  พบว่า  สื่อการเรียนมีความสำคัญต่อการเรียนการสอน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๐ สื่อที่ใช้ไม่มีความทันสมัยและสอดคล้องกับเรื่องที่สอน และการเรียนบาลีไม่เหมาะกับการใช้สื่อ คิดเป็นร้อยละ ๒.๘, ด้านคุณค่าของการศึกษา  พบว่า การศึกษาบาลีทำให้รักษาพระพุทธศาสนาไว้ ได้คิดเป็นร้อยละ ๕๘.๓ การศึกษาบาลีทำให้มีความรู้ในหลักภาษาไทยได้ดี มีการส่งเสริมให้เห็นคุณค่าการเรียนบาลี และทำให้มีความรอบคอบ คิดเป็นร้อยละ ๒.๘

ส่วนผลการวิเคราะห์เชิงพรรณนาวิธีความคิดเห็นและเสนอแนะของผู้บริหาร ครูและสามเณรนักเรียนต่อการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกของบาลีนั้น ดังนี้

ด้านหลักสูตร พบว่า หลักสูตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันควรมีการปรับภาษา  มีเนื้อหากระชับและมีภาพประกอบ มีสื่อการสอนทุกระดับชั้น, ด้านครูสอน พบว่า ครูต้องมีความรู้ดีมีวิธีการสอนที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจมากกว่านี้สามารถประยุกต์การสอนกับศาสตร์สมัยใหม่เช่น มีจิตวิทยาในการสอน ด้านการจัดการเรียนรู้ พบว่า มีบรรยากาศดีเป็นกันเอง แต่ควรให้มีการทำกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย  คณะสงฆ์ผู้ดูแลในส่วนนี้ควรส่งเสริมให้มีการผลิตสื่อการสอน ด้านกิจกรรมการเรียนรู้  พบว่า ต้องการให้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้  ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการเรียน ด้านการประเมินผล พบว่า  ควรมีการปรับปรุง  ข้อสอบเป็นแบบปรนัยและมีคะแนนเก็บ สามารถนำไปรวมผลข้อสอบสนามหลวงได้, ด้านสื่อการเรียนการสอน พบว่าควรมีการจัดงบประมาณส่งเสริมการผลิตสื่อที่เหมาะสม ด้านคุณค่าของการศึกษาบาลี พบว่า การเรียนบาลีเป็นการรักษาพระพุทธพจน์ ทำให้ผู้เรียนมีจิตใจมั่นคง เกิดความซาบซึ้งในหลักธรรม สามารถนำไปปฏิบัติและเผยแผ่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕