วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาอาสันนกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาชีวิตหลังความตายในทัศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาสันนกรรมกับชีวิตหลังความตาย
ผลการวิจัยพบว่า อาสันนกรรม มีลักษณะการแสดงออกเป็นสองลักษณะ คือ กรรมที่ระลึกได้ในเวลาใกล้เสียชีวิต หรือกรรมที่กระทำในเวลาใกล้เสียชีวิต ทั้งสองลักษณะตรงกับคำอธิบายในมหากัมมวิภังคสูตร
สภาวะของชีวิตหลังความตาย จำแนกเป็น ๒ ประเภท คือ ทุคติภูมิ และสุคติภูมิ รวม ๓๑ ภูมิ ทุคติภูมิ เป็นภูมิที่ไม่ดี มีแต่ความทุกข์ทรมาน ไร้ความเจริญ แบ่งเป็น ๔ ภูมิ คือ (๑) ติรัจฉานภูมิ (๒) อสุรกายภูมิ (๓) เปตติวิสัยภูมิ (๔) นิรยภูมิ ส่วนสุคติภูมิ เป็นภูมิที่มีความสุข ความเจริญ แบ่งเป็น ๓ ภูมิ คือ (๑) มนุสสภูมิ ๑ ชั้น (๒) เทวภูมิ ๖ ชั้น (๓) พรหมภูมิ ๒๐ ชั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างอาสันนกรรมกับชีวิตหลังความตาย ในอารมณ์ของผู้ที่ใกล้จะถึงแก่ความตาย จะมีนิมิต ๓ อย่าง คือ (๑) กรรมอารมณ์ (๒) กรรมนิมิตอารมณ์ (๓) คตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏ และเป็นเครื่องหมายบ่งบอกภพชาติที่สัตว์นั้นจะไปปฏิสนธิในทุคติภูมิ หรือสุคติภูมิ ตามแต่อารมณ์นั้นๆ อารมณ์ที่ปรากฏนี้มาจากกรรมที่มีอำนาจมากที่ผู้นั้นได้กระทำไว้หากว่าเป็นผู้ทำแต่กรรมชั่ว ตอนใกล้จะตายไม่สามารถระลึกถึงความดีได้ ก็จะไปเกิดในอบายภูมิ ๔ แต่การทำอาสันนกรรมที่เป็นฝ่ายกุศลให้เกิดขึ้น ระลึกถึงสิ่งที่ดีเป็นกุศลก่อนตาย ทำจิตใจไม่ให้ เศร้าหมอง ก็จะสามารถนำไปสู่สุคติได้เช่นกัน
วิธีการทำให้กุศลอาสันนกรรมเกิดแก่บุคคลใกล้จะตาย ได้แก่ (๑) การสร้างศรัทธาต่อพระรัตนตรัย น้อมจิตระลึกเป็นอารมณ์ โดยญาติให้เขาพนมมือแล้วจัดกรวยดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือเพื่อนำไปเป็นเครื่องบูชา แล้วเตือนให้รำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย โดยกล่าวคำว่า สัมมา อรหัง หรือ สัมมา สัมพุทโธ ให้นึกถึงพระอรหันต์ จะทำให้ลืมนึกถึงความเจ็บป่วย จิตใจกลับมาผ่องใส (๒) การสมาทานรักษาศีล เมื่อเขามีจิตตั้งมั่น และมีเจตนาที่จะรักษาศีล จิตของเขาย่อมผ่องใส (๓) การฟังธรรม จะนิมนต์พระสงฆ์มาให้แสดงธรรม หรือเปิดเสียงธรรมบรรยาย ทำให้เกิดสัมมาทิฎฐิ เมื่อมีจิตเลื่อมใสในคำสอน จนเกิดปัญญา จิตใจก็จะสงบ วิธีการเหล่านี้จึงเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ใกล้จะตายจากไปอย่างสงบ มีจิตที่ผ่องใส สามารถปิดอบายภูมิในภพชาติหน้าได้
|