วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาดนตรีในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาการใช้ดนตรีในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) เพื่อศึกษาการใช้ดนตรีของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย ผลการศึกษาพบว่า
ดนตรีในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีปรากฏทั้ง ๓ ปิฎก และนักวิชาการต่าง ๆ ให้คำนิยามศัพท์ของ “ดนตรี” มาจากคำ ๒ ชนิด คือ “คีต” หมายถึง การแสดงทางการขับร้อง ฟ้อนรำ การประโคม เป็นต้น และ “วาทิต” หมายถึง จังหวะเพื่อประกอบในการขับร้อง ฟ้อนรำ และการประโคม เป็นต้น และยังนำดนตรีที่ปรากฏในพระพุทธศาสนานำไปใช้ประโยชน์ในด้านศิลปะหรือสุนทรียศาสตร์ การสื่อสาร ความบันเทิง และได้รับความเพลิดเพลินเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด รวมไปถึงใช้ประโยชน์ในงานพิธีกรรม และประกอบการแสดงต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนา
การใช้ดนตรีในพระพุทธศาสนาเถรวาทสามารสร้างความรู้สึกกล่อมเกลาจิตใจให้เกิดความศรัทธาและความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และการใช้ดนตรีในพระพุทธศาสนายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การบูชา การอุปมาอุปมัย และ การสอนธรรม เป็นต้น ทำให้ผู้ศึกษาได้ข้าใจในหลักคำสอนเกี่ยวกับดนตรีที่เกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนา และสามารถนำดนตรีในพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้กับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาได้
การใช้ดนตรีของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย มีการพัฒนาการใช้ดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในสังคมไทยโดยใช้ประกอบงานประเพณี เช่น งานมงคล จะใช้เพลงมหาฤกษ์ เพลงปี่พาทย์สาธุการ เป็นต้น งานอวมงคลจะใช้เพลงวงปี่พาทย์มอญเป็นหลักในพิธีกรรม เช่น การบูชา การไหว้ครู หรือใช้ดนตรีในด้านการเผยแผ่ตามหลักพระพุทธศาสนาโดยใช้สื่อการสอนจากเสียงดนตรีร่วมสมัยมาบรรเลงเพลงประกอบเป็นจังหวะในบททำนองเนื้อร้องของบทสวดมนต์แต่ละบท ทำให้ผู้ฟังเกิดความกล้าหาญ และเข้าใจในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมไทยปัจจุบัน
|