งานวิจัยเรื่อง พุทธวิธีการบำบัดรักษาโรคทางใจ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาพุทธวิธีการบำบัดรักษาโรคที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ใช้บำบัดรักษาโรคทางใจ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้พุทธวิธีการบำบัดรักษาโรคทางใจที่ปรากฏในสังคมไทย การวิจัยครั้งนี้เป็นงานศึกษาวิจัยภาคเอกสารเป็นหลัก ซึ่งได้ทำการศึกษาข้อมูล ๒ ส่วน ประกอบด้วยการศึกษาข้อมูลชั้นปฐมภูมิ (Primary Source) และศึกษาข้อมูลขั้นทุติยภูมิ (Secondary Source) โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร งานวิจัย และตำราวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำมาวิเคราะห์สรุปข้อมูลในเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า พุทธวิธีการบำบัดรักษาโรคที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนานั้น พอสรุปได้ดังนี้
๑. การใช้สมุนไพร ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก หมวดเภสัชขันธกะ ซึ่งได้กล่าวถึงสมุนไพรชนิดต่าง ๆ พร้อมทั้งสรรพคุณในการรักษาโรคไว้เป็นอย่างดี
๒.การใช้พลานุภาพเป็นวิธีการรักษาโดยอาศัยพุทธานุภาพ ของพระพุทธเจ้า ในการรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรคต่าง ๆ
๓. การใช้ธรรมโอสถ เป็นการบำบัดรักษาโรคโดยการใช้หลักธรรมะ หลักการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ป่วยนั้นเกิดความแช่มชื่นจิตใจ เบิกบานใจ และมีกำลังในการต่อสู้กับโรคร้ายต่าง ๆ ได้
หลักพุทธธรรมที่ถูกนำมาใช้ในการบำบัดรักษาโรคทางใจนั้น ส่วนใหญ่เป็นหลักธรรมที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่นำไปใช้เพื่อละคลายจากความยึดมั่นถือมั่นและนำไปสู่การบรรลุมรรค ผล นิพพาน โดยเฉพาะหมวดธรรมที่รู้จักกันดี ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ สัญญา ๑๐ ไตรลักษณ์ พระรัตนตรัย อนัตตา และ หลักธรรม เป็นต้น
การประยุกต์ใช้พุทธวิธีการบำบัดรักษาโรคทางใจได้ถูกนำมาใช้โดยพระสงฆ์ไทย เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ซึ่งพระเถระทั้งสามรูปที่ยกมานี้ล้วนเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำหลักพุทธวิธีการบำบัดรักษาโรคทางใจมาประยุกต์ใช้กับคนป่วยในสังคมไทยปัจจุบัน และยังได้ประยุกต์หลักพุทธวิธีการบำบัดรักษาเข้ากับการแพทย์สมัยใหม่ได้เป็นอย่างดีโดยยึดหลัก ๓ ประการ ดังนี้
๑. ยึดหลักพระธรรมวินัย เป็นวิธีการรักษาตามที่ปรากฏในพระธรรมวินัย ด้วยการใช้สมุนไพรโบราณประยุกต์ใช้กับการแพทย์สมัยใหม่ในการรักษา
๒. ยึดหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ เป็นวิธีการบำบัดรักษาด้วยวิธีการไม่ฝืนกฎธรรมชาติ เช่น เมื่อรู้ว่าโรคนั้นรักษาไม่หายก็จะไม่ฝืนรักษา แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติโดยมองว่าความตายใคร ๆ ก็หนีไม่พ้นล้วนต้องเจอกันทุกคน
๓. การยึดหลักธรรม หรือธรรมโอสถ เป็นวิธีการรักษาด้วยการนำหลักธรรมะมาใช้ในการบำบัดรักษาเยียวยาผู้ป่วย เช่น โพชฌงค์ ๗ สัญญา ๑๐ หลักความไม่ประมาท หลักของการปฏิบัติ และการให้ผู้ป่วยมีสติ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจต่อสู้กับโรคภัยต่าง ๆ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ป่วยอีกด้วย
|