วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาความหมาย แนวคิด และทฤษฎีจิตสาธารณะ (๒) เพื่อศึกษาคำสอนเกี่ยวกับจิตสาธารณะในพระพุทธศาสนา เถรวาท (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้จิตสาธารณะในสังคมไทยปัจจุบัน
งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร คือ คัมภีร์พระไตรปิฎก ตลอดจนเอกสาร ตำราวิชาการ ผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วประมวลข้อมูลโดยนำมาศึกษาวิเคราะห์เนื้อหา และนำเสนอสรุปการวิจัยด้วยวิธีนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
จิตสาธารณะ หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดหรือจิตสำนึกที่รู้จักเอาใจใส่เป็นธุระเข้าร่วมกิจกรรมในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศชาติ ตลอดถึงการรับผิดชอบต่อหน้าที่หรือการทำหน้าที่ของตนเองในฐานะสมาชิกที่ดีของสังคมจิตสาธารณะ เป็นจิตสำนึกที่ดีที่อยู่ภายในจิตใจของบุคคล เป็นจิตใต้สำนึกที่ประกอบด้วยคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสภาพความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม โดยการรับรู้ เรียนรู้ จดจำ และลอกเลียนแบบ ก่อให้เกิดพฤติกรรมการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เสียสละเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ของตนเอง เพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม
ในทางคำสอนของพระพุทธศาสนาพบว่า หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติและสอดคล้องกับแนวคิดจิตสาธารณะอาทิเช่นพรหมวิหาร ๔ สังคหวัตถุ ๔ ฆราวาสธรรม๔และหลักทิศ ๖ เป็นต้น ซึ่งหลักธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นคุณธรรมเพื่อสังคม เพื่อมวลมนุษยชาติ เพราะเป็นหลักธรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง ทั้งแก่ผู้อื่น และสังคมโดยรวม
ในการประยุกต์ใช้จิตสาธารณะกับสังคมพบว่า การนำหลักทิศ ๖ มาใช้กับสถาบันครอบครัว การศึกษา ศาสนา การเมือง และเศรษฐกิจ สามารถจัดระเบียบสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบ และเป็นแบบอย่างการทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามสถานะของแต่ละบุคคล เช่น หน้าที่สามีต้องยกย่อง ไม่ดูหมิ่นภรรยา หน้าที่ภรรยาต้องจัดการงานบ้านให้เรียบร้อย หน้าที่บิดามารดาต้องสั่งสอนบุตรให้ละชั่วทำดี หน้าที่ของบุตรต้องเลี้ยงดูบิดามารดา ช่วยทำการงาน ในสถานศึกษา ครูอาจารย์มีหน้าที่แนะนำสั่งสอน ยกย่องป้องกันศิษย์ ศิษย์ต้องให้ความเคารพเชื่อฟัง ปรนนิบัติรับใช้ เป็นต้น เมื่อต่างคนต่างทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามสถานะ ย่อมเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมประเทศชาติ และส่งเสริมพัฒนาการทางจิตของปัจเจกบุคคล ให้ดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีสันติสุข
|