หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิวิฐปัญญากร (ตุลพงศารักษ์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๒ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมในการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเอง
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิวิฐปัญญากร (ตุลพงศารักษ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี
  สุพรต บุญอ่อน
  อานนท์ เมธีวรฉัตร
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมในการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเอง มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย ๓ ประการคือ  (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและกระบวนการในการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองในสังคมไทย  (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเอง  (๓) เพื่อเสนอแนวทางในการนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการเสริมสร้างการพึ่งพาตนเอง  การศึกษาครั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร คือคัมภีร์พระไตรปิฎก ตลอดจนเอกสาร ตำราวิชาการ ผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วประมวลข้อมูลโดยนำมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยวิธีวิเคราะห์เนื้อหา และนำเสนอสรุปการวิจัยด้วยวิธีนำเสนอผลการวิจัยเชิงพรรณนา มีผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

การพึ่งพาตนเองเป็นการแสดงออกถึงความพยายามที่จะใช้ความรู้ความสามารถที่ตนมีอยู่กระทำสิ่งใดๆให้สำเร็จด้วยตนเอง และแก้ไขปัญหาอุปสรรคอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยสามารถพึ่งตนเองได้ ๕ ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิงแวดล้อมด้านเทคโนโลยี ด้านสังคมและวัฒนธรรม และด้านจิตใจ

หลักพุทธธรรมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างแนบแน่น ดังนั้นหลักพุทธธรรมจึงมีส่วนในการเสริมสร้างให้คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ในด้านต่างๆ คือ (๑) ด้านเศรษฐกิจ เช่น หลักทิฏฐธัมมิกัตถ สังวัตตนิกธรรม ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นต้น   (๒) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น หลักโภชเน มัตตัญญุตา หลักสันโดษ เป็นต้น (๓) ด้านเทคโนโลยี เช่น หลักโยนิโสมนสิการ และมัชฌิมาปฏิปทา เป็นต้น (๔) ด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น หลักศีลหรือวินัย หลักสังคหวัตถุ ๔  และ (๕) ด้านจิตใจ เช่น หลักกรรมฐาน ๒ ไตรลักษณ์ ๓ เป็นต้น

การนำเอาหลักพุทธธรรมมาเสริมสร้างการพึ่งพาตนเองของสังคมไทยได้นั้น ต้องประสานความร่วมมือกันระหว่างสถาบันที่สำคัญในชุมชน ๓ สถาบัน คือ สถาบันการปกครอง (บ้าน) สถาบันศาสนา (วัด) และสถาบันการศึกษา (โรงเรียน) มาเป็นกลไกในการพัฒนาและสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ทั้ง ๕ ด้าน คือ (๑) ด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจโดยยึดทางสายกลางพออยู่ พอกิน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง(๒) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สามารถจัดการทรัพยากรอย่างชาญฉลาด โดยยึดอยู่บนหลักของความยั่งยืนสูงสุด (๓) ด้านเทคโนโลยี เพื่อให้รู้จักเลือกบริโภคเทคโนโลยีแต่พอดี เหมาะสมกับฐานะของตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม (๔) ด้านสังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตด้วยความเรียบง่าย มีการพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และรู้จักการแบ่งปัน และ (๕) ด้านจิตใจ เพื่อให้เป็นผู้มีจิตใจที่เข้มแข็ง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรค์ให้ตนเองและชาติ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕