วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักขันติในพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อศึกษาการดำเนินชีวิตตามหลักขันติของชาวตำบลท่าม่วงและเพื่อวิเคราะห์ประโยชน์ของขันติในการดำเนินชีวิตของชาวตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นการศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎกเอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและการสัมภาษณ์ภาคสนามโดยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงพรรณา
ผลการศึกษาพบว่าขันติเป็นหลักธรรมที่กล่าวถึงความอดทนต่อสิ่งยั่วยุที่เกิดขึ้นทั้งภายในจิตใจและภายนอกสิ่งยั่วยุหรือปัจจัยภายในได้แก่ความโลภ เป็นต้น สิ่งยั่วยุหรือปัจจัยภายนอก ได้แก่ คำพูดเสียดสี เป็นต้น ลักษณะของขันติจะมีลักษณะอดกลั้นไม่ดุร้าย ไม่ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น มีความเบิกบานอยู่เป็นนิตย์ ขันติ ๔ ประเภท คือ อดทนต่อความลำบากอดทนต่อทุกขเวทนาอดทนต่อความเจ็บใจและอดทนต่ออำนาจกิเลสคือโลภ โกรธ หลง บุคคลสามารถสร้างความอดทนด้วยการยึดหลักหิริโอตตัปปะรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบจิตใจ ขันติที่ปรากฏในมงคลสูตรมี ๒ ลักษณะคือ ขันติพื้นฐาน ซึ่งมาคู่กับโสรัจจะ เป็นความอดทนในการทำงานทั่วไป ได้แก่ อธิวาสนขันติคืออดทนต่อการล่วงเกินของคนอื่น ส่วนขันติในฆราวาสธรรมเป็นการอดทนต่อการทำงานเลี้ยงชีพไม่ย่อท้อต่อความลำบากโทษของการขาดขันติคือ เป็นผู้มากด้วยเวรเมื่อตายไปจะเขาถึงอบายภูมิส่วนอานิสงส์ของขันติคือ เป็นที่รักเป็นที่พอใจของคนหมู่มากไม่ดุร้ายไม่มีความเดือดร้อนไม่หลงสติ และหลังจากตายจะไปเกิดในสุคติ
ชาวตำบลท่าม่วงได้นำหลักขันติมาใช้ในการดำเนินชีวิตโดยปฏิบัติตามหลักขันติคือพิจารณาเห็นโทษของความโกรธที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจหรือขัดเคืองใจ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้สร้างปัญหาหรือประพฤติตนผิดศีลธรรมได้ เช่น ด่าผู้อื่นทำร้ายผู้อื่นเป็นต้นไม่ให้ยินดีตามความต้องการ เช่น การซื้อสิ่งของราคาแพง การอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นต้น เมื่อห้ามความโลภได้ก็ไม่ต้องทำให้เดือดร้อนในภายหลัง ในการดำรงชีวิตคือการศึกษาเล่าเรียน การทำงานหรือทำหน้าที่ของตนความอดทนเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ชาวตำบลท่าม่วงบรรลุเป้าหมายช่วยพัฒนาสุขภาพกายคือทำให้กายเป็นปกติสุขไม่อ่อนล้าหรือกระสับกระส่ายเพราะขาดความอดทนมีความเป็นอยู่ดีเพราะเมื่ออดทนต่อความลำบากได้ก็ทำให้ทำงานได้สำเร็จรวมทั้งสุขภาพจิตให้ดีขึ้นเพราะสามารถบรรเทาความโลภโกรธหลงได้นอกจากนี้ยังทำให้บรรลุเป้าหมายชีวิตในการดำเนินชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและศีลธรรม
|