วิทยานิพนธ์นี้ ผู้ศึกษาได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ตามช่วงวัยทั้งสาม คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย (๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่สอดคล้องกับพัฒนาการของมนุษย์ตามช่วงวัยทั้งสามนั้น (๓) เพื่อประยุกต์หลักพุทธธรรมมาใช้ในการพัฒนามนุษย์ตามช่วงวัยทั้งสาม ในสังคมไทยปัจจุบัน การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในเชิงเอกสาร โดยมีผลการศึกษาดังนี้
ผลการศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ พบว่า มนุษย์ช่วงปฐมวัย มีความเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพและจิตใจเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยภายนอกเช่น ครอบครัว สังคม ประเพณี วัฒนธรรม เทคโนโลยี การสื่อสาร และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เป็นตัวเร่ง ผู้ปกครองต้องดูแลอบรมเป็นพิเศษ เพื่อให้การเจริญเติบโตและการเรียนรู้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง มนุษย์ช่วงมัชฌิมวัย เป็นช่วงที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว มีความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อเผชิญปัญหาก็สามารถแก้ปัญหาได้ และ มนุษย์ช่วงปัจฉิมวัย เป็นช่วงที่มีพัฒนาการด้านกายภาพถดถอย บางรายประสบปัญหาครอบครัว มีความวิตกกังวลกลัวถูกทอดทิ้ง จึงต้องมีการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กัน
ผลการศึกษาหลักพุทธธรรมที่สอดคล้องกับพัฒนาการของมนุษย์ พบว่า ช่วงปฐมวัย ผู้ปกครองต้องอาศัยความรักความอบอุ่นและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ต้องมีความเข้าใจหลักธรรมหรือหลักการเลี้ยงดู แล้วปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง อบรมแนะนำบุตรอย่างค่อยเป็นค่อยไป สอนให้รู้ว่า สิ่งใดควรไม่ควร มีประโยชน์ไม่มีประโยชน์ มีคุณมีโทษ รู้จักใช้ปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กอย่างเหมาะสม ช่วงมัชฌิมวัย เป็นการเน้นเรื่องการสร้างครอบครัว การประกอบอาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม การแก้ปัญหา และ ช่วงปัจฉิมวัย เน้นเรื่องการดูแลสุขภาพกายและจิตของผู้สูงวัย โดยการฝึกฝนตนเอง และบุตร-หลานต้องปฏิบัติดูแลผู้สูงวัยอย่างใกล้ชิด เป็นการสร้างความรักความอบอุ่นและความสัมพันธ์ที่ดี
ผลการประยุกต์หลักพุทธธรรมเพื่อนำไปใช้ในสังคมไทย พบว่า การนำหลักพุทธธรรมมาสร้างความรักความอบอุ่นและความสัมพันธ์ที่ดีในช่วงปฐมวัย ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาทางกายและจิตใจที่ดี เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเป็นการวางพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นคงในวัยถัดไป การนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในช่วงมัชฌิมวัย เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว การประกอบอาชีพ การใช้จ่าย ความรับผิดชอบต่อสังคมและการแก้ปัญหาต่างๆ และการนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในช่วงปัจฉิมวัย เป็นการสร้างความสุข ให้กับผู้สูงวัย ลดความวิตกกังวลจากการถูกทอดทิ้ง และสามารถสร้างความเป็นผู้มีอายุยืนได้อีกด้วย
|