วิทยานิพนธ์เล่มนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ ดังนี้ (๑) เพื่อศึกษาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวรรณกรรม ทั่วไปและวรรณกรรมอิงหลักพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาคุณค่าและวิธีการประพันธ์เรื่องพระอานนท์พุทธอนุชา (๓) เพื่อศึกษาเชิงวิเคราะห์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในวรรณกรรมเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชา
ผลการวิจัยพบว่าวรรณกรรมหมายถึงสิ่งที่เขียนขึ้นทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ความมุ่งหมายใด นิยายหมายถึง เรื่องเล่า เรื่องอ่านเล่นหรือประโลมโลก นวนิยายอิงชีวประวัติ หมายถึง นวนิยายที่กล่าวถึงเรื่องราวของตัวละครเอก ส่วนวรรณกรรมศาสนาของไทยนั้นมีปรากฏเป็นรายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกยุคสุโขทัย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช วรรณกรรมอิงพระพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น ๒ ระยะคือก่อนรับอิทธิพลวรรณกรรมตะวันตกตั้งแต่ยุคสุโขทัยจนถึงต้นรัชกาลที่๔ กรุงรัตนโกสินทร์ และหลังได้รับอิทธิพลวรรณกรรมตะวันตก ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ความหมายแห่งธรรมนิยายอิงชีวประวัติพระสาวกของพระศาสดาที่กล่าวถึงสถานะก่อนเข้ามาบวชหลังบวชและการเผยแผ่ศาสนาของพระอานนท์พุทธอนุชา มีทั้งหมด ๓๓ ตอน การจัดประเภทนวนิยายอิงพระพุทธศาสนามี ๒ ประเภท คือ ประเภทเรื่องที่แต่งตามลำดับเวลาและประเภทที่แต่งตามเนื้อหา องค์ประกอบของ นวนิยายเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชามีองค์ประกอบ ๖ ประการ คือ ๑) ประกอบด้วยโครงเรื่องของพระอานนท์พุทธอนุชาที่กล่าวถึงการเปิดเรื่อง การสร้างความขัดแย้ง จุดวิกฤตหรือจุดสุดยอด และการปิดเรื่อง ๒) กลวิธีการประพันธ์มีการตั้งชื่อเรื่อง กลวิธีการเล่าเรื่อง และโวหารในการประพันธ์ ๓) ฉากของเรื่องประกอบด้วย การสร้างฉากให้เหมือนจริง การสร้างฉากตามอุดมคติ และการสร้างฉากให้มีลักษณะเหนือจริง ๔) ตัวละครแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ตัวละครเอกที่มีพระอานนท์เป็นตัวหลักและตัวละครประกอบที่ปรากฏหลายๆคนในเรื่อง ๕) บทสนทนาพบว่ามี ๒ ประเด็น คือ บทสนทนาที่แสดงถึงอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครแต่ละตัวและบทสนทนาที่ให้คติและข้อคิด ๖) การนำเสนอแนวคิดของผู้ประพันธ์ที่ยกพระอานนท์เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติจนได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศใน ๕ สถานและมีคุณธรรม ๖ ประการ และแสดงแนวคิดไว้ให้เห็นความอัศจรรย์แห่งธรรมวินัย
คุณค่าของธรรมนิยายเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชา มี ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) คุณค่าด้านสังคมได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับถวายสังฆทานกับปาฏิบุคลิกทาน องค์ประกอบของทานที่จะมีผลมาก ๖ ประการ ความเสมอภาคของบุคคลและการเคารพกันตามคุณธรรม ๒) คุณค่าด้านความรู้ที่ได้แก่ การสอนธรรมตามแนวพุทธวิธี หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา และคติธรรม ๓) คุณค่าด้านวรรณกรรมประกอบด้วยสุนทรียรสที่สะท้อนให้เห็นความงามของภาษาและด้านอุปมาโวหารที่มีการเปรียบเทียบจนทำให้ผู้อ่านประทับใจมองเห็นภาพลักษณ์คล้อยตามหลักธรรมในวรรณกรรมเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชา พบว่า หลักธรรมในวรรณกรรมอิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชา เกี่ยวกับหลักคำสอนด้านจริยธรรมและหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรม พบว่าหลักคำสอนด้านจริยธรรมมีหลักคำสอนที่สะท้อนให้เห็นถึงหลักที่ควรประพฤติปฏิบัติอยู่ ๖ ประการ ได้แก่ โอวาท ๑๐ ข้อของธนัญชัยเศรษฐีมอบให้นางวิสาขา หลักการเป็นผู้นำที่ต้องรักษาไว้ การเป็นผู้มีความกตัญญูเป็นผู้มีความเสียสละหลักการที่ชี้ให้เห็นว่าพระอานนท์แสดงการพิทักษ์สิทธิสตรีและหลักที่แสดงให้เห็นว่าผู้เป็นบัณฑิตย่อมมีจิตมั่นคง หลักคำสอนทั้ง ๖ ประการเป็นหลักคำสอนพระพุทธศาสนาและผู้ศึกษาทั่วไปควรพิจารณาและนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
มีหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรมในประเด็นหลัก ๘ ประเด็น ได้แก่ เกี่ยวกับหลักความจริง ในขันธ์ ๕ วิตก ๓ หลักความจริงเกี่ยวกับธรรม หลักเกี่ยวกับอริยสัจ ๔ อิทธิบาท ๔ ไตรลักษณ์อปริหานิยธรรม ๗ และมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงของชีวิตเป็นหลักสัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาเปิดเผยสอนแก่ชาวโลก
|