วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาลักษณะพุทธศิลป์ที่ปรากฏอยู่ในองค์ประกอบของเจดีย์รัตนมงคล ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อและพิธีกรรมของคนในชุมชนบ้านหนองไหลที่มีต่อเจดีย์รัตนมงคล
ผลการศึกษาพบว่าความเชื่อและพิธีกรรม เป็นสิ่งที่ควบคู่กันมา ตั้งแต่มนุษย์เกิดความเชื่อในสิ่งใดแล้วก็จะประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของตน พุทธศาสนิกชนชาวไทย ต่างก็มีความเชื่อในเจดีย์ ในฐานะเป็นสิ่งที่เคารพบูชา จึงประกอบพิธีบูชาในโอกาสต่างๆ เช่นการเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนา เพื่อรำลึกถึง พุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ
เจดีย์รัตนมงคล วัดบ้านหนองไหล จังหวัดร้อยเอ็ดจัดเป็นประเภทอุเทสิกเจดีย์ ที่บูรณะขึ้นใหม่ครอบพระธาตุองค์เดิม (สมัยทวารวดี) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีลักษณะและรูปแบบเช่นเดียวกับพระธาตุพนมโดยย่อส่วนครึ่งหนึ่งสร้างด้วยหินทรายสีเหลือง ข้างในทึบตัน แกะสลักรูปพุทธประวัติ ลายดอกประจำยาม แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือฐานราก องค์เจดีย์ยอดปรีและยอดฉัตร แต่ละส่วนปรากฏลักษณะพุทธศิลป์ที่สื่อความหมายของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้อย่างสมบูรณ์
ความเชื่อและพิธีกรรมการบูชาเจดีย์รัตนมงคล ของชาวบ้านหนองไหล จังหวัดร้อยเอ็ดเชื่อว่าเจดีย์รัตนมงคล มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีเทวดาคุ้มครองรักษา เป็นปูชนียสถานที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และวัตถุมงคลอันเก่าแก่และมีค่ามาก เช่น พระพุทธรูปเงิน แก้วผลึก และรัตนมงคลอื่นๆ พิธีกรรมการไหว้เจดีย์ การสรงน้ำเจดีย์ จุดบั้งไฟถวาย พิธีกรรมดังกล่าว ชุมชนบ้านหนองไหลได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา จนกลายเป็นประเพณีที่จะต้องถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี เจดีย์รัตนมงคลจึงเป็นศูนย์รวมเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจชาวพุทธให้รู้จักกตัญญูและกตเวทีต่อบรรพบุรุษ เชื่อกันว่า เจดีย์มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิปาฏิหาริย์ สามารถดลบันดาลประทานพรให้ผู้มีศรัทธา สักการะกราบไหว้ให้แคล้วคลาดตลอดปลอดภัย และเป็นสิริมงคลต่อตนเอง รวมทั้งครอบครัว ทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และทำให้คนในชุมชนบรรลุวัตถุประสงค์
ตามเจตจำนงค์
|