วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (๑) ความเป็นมาของสามเณรผู้เป็นเหล่ากอแห่งสมณะในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) สภาพปัจจุบันและปัญหาของสามเณรผู้เป็นเหล่ากอแห่งสมณะในสังคมไทย และ(๓) แนวทางการแก้ไขการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาของสามเณรผู้เป็นเหล่ากอแห่งสมณะในสังคมไทยปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่า
๑. สามเณรคือเหล่ากอแห่งสมณะ เป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา บรรพชาด้วยไตรสรณคมน์ ถือสิกขาบท ๑๐ และกิจวัตรบางอย่าง มีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตบวชราหุลเป็นสามเณรรูปแรก ทรงชี้แนะวัตถุประสงค์ กำหนดคุณสมบัติ วางระเบียบวิธีการบรรพชา และบัญญัติสิกขาบทสำหรับสามเณรการปกครองเป็นภาระหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์และพระภิกษุทั้งหลายมีสามเณรอนุพุทธะตรัสรู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏในพระไตรปิฎกและคัมภีร์พระพุทธศาสนาอื่นๆ อยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งนับเป็นศาสนทายาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
๒. จากสภาพปัจจุบันยังมีชาวพุทธในเขตชนบทที่ยังคงส่งเสริมให้บุตรหลานบวชเรียนเป็นสามเณรแม้ไม่มากดังเช่นในอดีตเนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี ไม่สามารถที่จะส่งบุตรหลานของตนไปเรียนในสถานศึกษาของรัฐได้ จำเป็นต้องหันมาอาศัยบวชเรียนที่จะให้บุตรหลานของตนได้รับการศึกษาและเป็นการเลื่อนฐานะทางสังคมด้วยทางคณะสงฆ์ไทยได้มองเห็นถึงความสำคัญทางด้านการศึกษาจึงได้จัดระบบการศึกษาทั้งแผนกนักธรรม-บาลีและแผนกสามัญศึกษาโดยมีสำนักเรียนวัดและคณะจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการและจากสภาพปัญหาหลายๆด้านทำให้ต้องหันมาหาทางป้องกันและแก้ไขโดยเฉพาะปัญหาที่ทำให้จำนวนสามเณรลดจำนวนลง เช่น การจัดการศึกษาของรัฐ การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นต้นแม้ว่าโดยสรุปแล้วการหาผู้ที่จะมาบวชนั้นยากขึ้นทุกทีก็ตาม เนื่องจากสามเณรมีความสำคัญในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นแล้ว ทุกภาคส่วนต้องหันมาร่วมมือกัน เพื่อที่จะรับกับปัญหาที่อาจกระทบไปถึงจำนวนพระภิกษุในอนาคตอีกด้วย
๓. แนวทางการแก้ไขการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาของสามเณรผู้เป็นเหล่ากอแห่งสมณะในสังคมไทยปัจจุบัน ๑) ด้านครอบครัว ควรให้ข้อมูลผลดี-ผลเสียในการบวชเรียนที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้ ใช้การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ส่วนสามเณรต้องดูแลให้ความอบอุ่น และส่งเสริมเรื่องการศึกษา ๒) ด้านเศรษฐกิจ ควรนำหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวข้องการดำรงชีวิตมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย สามเณรควรมีหลักมัตตัญญุตาสำหรับการปฏิบัติตาม เพื่อการดำรงอยู่อย่างสมถะ ๓) ด้านสังคม ควรนำพุทธศาสนาไปแก้ปัญหาสังคม แม้แต่ตัวสามเณรยังต้องปรับปรุงความประพฤติให้อยู่ในสมณสารูปที่ดีงาม ๔) ด้านการจัดการศึกษาของรัฐ รัฐควรคำนึงถึงความเสมอภาค การเรียนการสอนศีลธรรม และการปฏิรูปคน ควรส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของสามเณรด้วย ๕) ด้านการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ เป็นเรื่องที่ต้องปรับทั้งองค์กร บุคลากรผู้สอน หลักสูตรที่ทันสมัย และการวัดผลที่เป็นสากล ต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดแก่ผู้เรียนโดยเฉพาะสามเณร ๖) ด้านพระธรรมวินัย สามเณรควรให้ความสำคัญ กับการประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งที่ได้ศึกษามา เมื่อทำผิดต้องยอมรับบทลงโทษเพื่อความดีงามและความผาสุกของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
|