หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดชูเกียรติ ฐิตปญฺโญ (ศรียาชีพ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๕๖ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมที่ส่งเสริมบทบาทผู้นำของพระเจ้าพิมพิสารในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดชูเกียรติ ฐิตปญฺโญ (ศรียาชีพ) ข้อมูลวันที่ : ๒๕/๐๗/๒๐๑๕
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  ศศิวรรณ กำลังสินเสริม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2555
 
บทคัดย่อ

                  วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้คือ  ๑. เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  ๒. เพื่อศึกษาบทบาทผู้นำของพระเจ้าพิมพิสารที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  และ ๓. เพื่อศึกษาหลักธรรมที่ส่งเสริมบทบาทผู้นำของพระเจ้าพิมพิสารที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  การศึกษานี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยศึกษาจากเอกสารและนำเสนอแบบพรรณา

                 จากการศึกษาพบว่า ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท กล่าวถึงความจำเป็นที่สังคมมนุษย์ต้องมีผู้นำเพื่อให้คนในสังคมนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสันติผู้นำจึงเกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม ผู้นำที่แสดงบทบาทนั้นย่อมรับนามว่า มหาสมมติบ้าง กษัตริย์บ้าง ราชาบ้าง ดังนั้น ผู้นำ จึงหมายถึง บุคคลผู้ที่ได้รับการยอมรับจากหมู่คณะหรือกลุ่มชนให้ทำหน้าที่ช่วยให้บุคคลทั้งหลายร่วมมือกันหรือกระทำการร่วมกันในทิศทางที่กำหนดไว้ สู่จุดหมายที่ถูกต้องดีงาม โดยมีหลักธรรมที่ผู้นำ สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการนำคนทั้งหลายไปสู่จุดหมาย อาทิ หลักทศพิธราชธรรม จักกวัตติธรรม พรหมวิหารธรรม ราชสังคหวัตถุ สัปปุริสธรรม และอปริหานิยธรรม

                 พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ปกครองแคว้นมคธ ทรงมีพระราชศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงนำหลักธรรม อันได้แก่ หลักทศพิธราชธรรม จักกวัตติธรรม พรหมวิหารธรรม ราชสังควัตถุ สัปปุริสธรรม และอปริหานิยธรรม มาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้บทบาทผู้นำของพระองค์โดดเด่นทั้งในด้านการปกครอง การส่งเสริมการศึกษา การป้องกันประเทศ การส่งเสริมสันติภาพ การเจริญสัมพันธไมตรีกับแคว้นอื่น โดยเฉพาะบทบาทผู้นำด้านการส่งเสริมการศึกษา ทั้งนี้เพราะ พระองค์ทรงส่งเสริมประชาชนของพระองค์ให้มีการศึกษาตามหลักไตรสิกขาควบคู่กับการพัฒนาจิตใจและปัญญา ส่งผลให้ชนทั้งหลายพ้นจากความทุกข์พบสุขอย่างแท้จริง

                 หลักธรรมที่ส่งเสริมบทบาทในฐานะผู้นำของพระเจ้าพิมพิสาร แบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วน ส่วนที่ ๑ ทรงนำมาใช้ภายในประเทศ อันประกอบด้วย ๑) ฝ่ายอาณาจักร ทรงใช้หลักพรหมวิหารธรรม ข้อ เมตตาและกรุณา  ๒) ฝ่ายพุทธจักร ทรงใช้หลักทศพิธราชธรรมข้อ ทานในส่วนที่ ๒ ทรงนำมาใช้ระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ๑) การบำบัดทุกข์ ทรงใช้หลักจักกวัตติธรรม ข้อ ธัมมิการักขา คุ้มครอง สงเคราะห์แก่ชาวนิคมและชนบท ๒) การบำรุงสุข ทรงใช้หลักราชสังคหวัตถุ ข้อ ปุริสเมธะ ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าพิมพิสารจึงเป็นผู้นำที่มีลักษณะอ่อนโยน ประนีประนอม แต่ทรงไว้ซึ่งพลัง และอำนาจโดยธรรม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕