วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์การศึกษา ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาภิกขุปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) ศึกษาสภาพและปัญหาภิกขุปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ในปัจจุบัน และ (๓) เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมภิกขุปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ในปัจจุบัน
ผลการศึกษา พบว่า
ภิกขุปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทพบว่ามีการกำเนิดและพัฒนาการภิกขุปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนาเริ่มตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าวิปัสสีพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ๖ เดือนต่อหนึ่งครั้ง แต่การบัญญัติสิกขาบทยังไม่มีการบัญญัติส่วนการทำอุโบสถก็ทำในที่แห่งเดียวเท่านั้น คือ ในอุทยานเขมมฤคทายวัน ต่อมาถึงสมัยพุทธกาลจึงได้มีการบัญญัติภิกขุปาฏิโมกข์ไว้ และทรงแสดงเพียงครั้งเดียวต่อจากนั้นก็ทรงให้สาวกเป็นผู้แสดงภิกขุปาฏิโมกข์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ ข้อวินัยของพระภิกษุที่เกี่ยวเนื่องด้วยภิกขุปาฏิโมกข์ คำว่า ภิกขุปาฏิโมกข์ หมายถึง สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแก่ภิกษุทั้งหลาย หรือศีลของภิกษุสงฆ์ ซึ่งทำให้บุคคลผู้รักษา คุ้มครองศีลดีแล้ว ย่อมไม่ตกไปสู่อบาย ความสำคัญของภิกขุปาฏิโมกข์ คือ มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพระภิกษุ ทำให้พระภิกษุให้ได้ระลึกถึงศีล ของตน อันจักเป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุให้ได้ศึกษาทบทวนพระวินัยที่เป็นหลักปฏิบัติ ประเภทของปาฏิโมกข์ มี ๒ ประการ คือ โอวาทปาฏิโมกข์ กับ อาณาปาฏิโมกข์ เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับศีลของภิกษุ และนางภิกษุณี การปรับอาบัติ บทลงโทษ และอานิสงส์ของการเข้าร่วมสังฆกรรมการสวดและฟังภิกขุปาฏิโมกข์
สภาพและปัญหาภิกขุปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ในปัจจุบัน พบว่า สภาพและปัญหาภิกขุปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต และสภาพของสังคมตามยุคสมัย เช่น ด้านวัดหรืออุโบสถ ผู้สวด พระสงฆ์ เอกสารตำรา และการเผยแพร่ ก็มีจำนวน มากขึ้น เพียงพอสำหรับการทำสังฆกรรม แต่มีบางวัดที่ไม่เพียงพอในหลายๆด้านส่วนใหญ่เป็นสถานที่อยู่ในชนบท และปัญหาที่สำคัญของภิกขุปาฎิโมกข์ คือ ด้านผู้สวด ยังมีจำนวนน้อยและนับวันจะลดลงเรื่อยๆ ส่วนของเอกสารตำรา ยังมีจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการศึกษา ส่งผลให้การเผยแพร่ กระทำได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้พระสงฆ์ส่วนหนึ่งไม่รู้ในภิกขุปาฏิโมกข์ และข้อปฏิบัติอาจไม่ถูกต้องตามพุทธบัญญัตติของพระพุทธองค์ได้
แนวทางส่งเสริมภิกขุปาฏิโมกข์ของพระสงฆ์ในปัจจุบัน พบว่า มีอยู่ ๕ ด้าน คือ (๑) ด้านวัด ควรมีการส่งเสริมด้านความสะอาด และ การตกแต่งสถานที่ เป็นต้น (๒) ด้านผู้สวด ควรฝึกอบรมให้พระสงฆ์มีการสวดเพิ่มมากขึ้น (๓) ด้านพระสงฆ์ ควรมีการฝึกอบรมให้พระสงฆ์เห็นความสำคัญของภิกขุปาฏิโมกข์ และอานิสงส์ที่พึงจะได้รับ (๔) ด้านตำรา ควรมีการส่งเสริมจัดหาตำราเอกสารที่เกี่ยวกับภิกขุปาฏิโมกข์ ตลอดจนทำสื่ออินเทอร์เน็ต และงานวิจัยมากขึ้น และ (๕) ด้านการเผยแพร่ ควรส่งเสริมให้บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องโดยเฉพาะพระสงฆ์ได้เข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่ภิกขุปาฏิโมกข์ไปสู่พระสงฆ์ด้วยกัน และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายทั่วไปให้เข้าใจถึงการทำสังฆกรรมภิกขุปาฏิโมกข์หรือข้อวัตรปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักพระวินัยในพระพุทธศาสนาสืบไป
|