การศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากมาตรฐานแรงงานไทยได้มีการตั้งวัตถุประสงค์ ๓ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงาน ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมสำหรับแก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงาน ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการใช้หลักพุทธธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน
ผลการวิจัยพบว่าผู้ใช้แรงงานมีรายได้ลดลงเนื่องจากการลดลงของชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของมาตรฐานแรงงานไทย ส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับมีการใช้จ่ายในการซื้อสิ่งของอำนวยความสะดวกที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัย ๔ และทำให้เกิดภาระหนี้สินที่ส่งผลจากการกู้ยืมมาใช้จ่ายในส่วนที่ขาดหายไปกับสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นในการครองชีพ
หลักพุทธธรรมสำหรับแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานที่นำมาใช้คือ การบริหารค่าใช้จ่ายให้พอเพียงในการดำเนินชีวิต จากวิธีการลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ ทำให้ได้มาซึ่งหลักพุทธธรรมเพื่อจะใช้ในการแก้ไขปัญหา ๖ หัวข้อประกอบด้วย ๑) หลักการพัฒนาความคิดเห็นที่ถูกต้อง ๒) หลักธรรมสำหรับการครองชีวิต ๓) หลักธรรมสำหรับการบริหารรายได้ ๔) หลักธรรมสำหรับการใช้จ่าย ๕) หลักธรรมสำหรับการบริโภคอย่างพอเพียง ๖)หลักธรรมสำหรับสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ได้ถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน
แนวทางการใช้หลักพุทธธรรมในการแก้ไขปัญหามี ๒ แนวทางคือ ๑)แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักการหาเหตุและผลทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานได้รับรายได้ที่ลดลง และทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน ๒)แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยใช้หลักไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วย ศีล สมาธิและปัญญา มาเป็นหลักในการจัดกลุ่มของ มรรค ๘ โดยเริ่มจากหมวดปัญญาที่ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ ในการพัฒนาความคิดเห็นที่ถูกต้อง และ สัมมาสังกัปปะในการวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาด้วย หลักธรรมสำหรับการครองชีวิต หลักธรรมสำหรับบริหารรายได้ หลักธรรมสำหรับใช้จ่าย และหลักธรรมสำหรับการบริโภคอย่างพอเพียง ในหมวดของศีล ได้ถูกนำมาเป็นกระบวนการสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ในหมวดของสมาธิ ที่ประกอบด้วย สัมมาวายามะ ถูกนำไปใช้เป็นกระบวนการควบคู่กับแนวทางในการแก้ไขปัญหา สัมมาสติ มีไว้ใช้ในการกำกับการดำเนินการ และ สัมมาสมาธิ มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งแก้ไขข้อบกพร่องตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน
|