วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์การวิจัย ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาอธิษฐานธรรมในการสร้างความมั่นคงของชีวิตที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่สนับสนุนและปฏิปักษ์กับอธิษฐานธรรม และ (๓) เพื่อศึกษาการนำอธิษฐานธรรมไปใช้ในการสร้างความมั่นคงของชีวิต โดยศึกษาค้นคว้าจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา วิทยานิพนธ์ รวมทั้งตำราและงานวิจัยของนักวิชาการ ผลการวิจัยพบว่า
อธิษฐานธรรมในการสร้างความมั่นคงของชีวิตที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เถรวาท พบว่า อธิษฐานธรรมเป็นธรรมหมวดหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งอีกหมวดหนึ่ง ที่มีต่อการทำให้ชีวิตมีความมั่นคง มีความเป็นอยู่อย่างปลอดภัยและเป็นสุข เป็นหลักธรรมที่เปรียบเสมือนแผนที่ เพราะว่าอธิษฐานธรรมนี้ เป็นหลักธรรมที่ใช้ในการยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้เป็นคนที่มีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวมั่นคง เห็นคุณค่าของตนที่ได้เกิดมาและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายอันสูงสุดแห่งธรรมในทางพระพุทธศาสนาคือพระนิพพานได้ อธิษฐานธรรม มี ๔ ประการ ได้แก่ (๑) ปัญญาธิษฐาน (๒) สัจจาธิษฐาน (๓) จาคาธิษฐาน และ (๔) อุปสมาธิษฐาน
ความสำคัญของอธิษฐานธรรมในการสร้างความมั่นคงของชีวิต ซึ่งมีหลักธรรมที่สนับสนุนและปฏิปักษ์ต่อหลักอธิษฐานธรรม เพื่อให้การปฏิบัติธรรมเข้าถึงจุดประสงค์ คือ มงคลสูตร สิกขา ๓ อิทธิบาท ๔ สัมปรายิกัตถประโยชน์ เวสารัชชกรณธรรม พละ ๕ อริยทรัพย์ อริยมรรค ๘ กถาวัตุ นาถกรณธรรม ธรรมคุ้มครองโลก สุจริต ๓ สัปปุริสบัญญัติ บุญกิริยาวัตถุ ฆราวาสธรรม สาราณิยธรรม อนุสสติ ๑๐ สังคหวัตถุ ๔ ประโยชน์ที่ควรถือเอาจากโภคทรัพย์ธรรมมีอุปการะมาก สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ สันติ และ ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์อธิษฐานธรรม ได้แก่ อกุศลมูล อาสวะ ๓ นิวรณ์ ๕ อบายมุข มละ ๙ ทุจริต ๓ อุปกิเลส มัจฉริยะ และกามคุณ
การนำหลักอธิษฐานธรรมในการสร้างความมั่นคงของชีวิตนั้น โดยการนำหลักอธิษฐานธรรมทั้ง ๔ ข้อ ไปเป็นฐานการดำเนินชีวิต ซึ่งหัวข้อธรรมทั้ง ๔ ข้อสามารถเป็นฐานที่มั่นคงให้กับชีวิตได้ด้วยการปฏิบัติตามซึ่งจะส่งผลต่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข จากการศึกษาจะพบว่า คนเราสามารถนำหลักอธิษฐานธรรมไปใช้ในดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคมอย่างมีสุข เพราะเป็นการใช้ปัญญาในการประกอบอาชีพ มีความจริงใจต่อกัน มีการเอื้ออาทร มีการช่วยเหลือกันเสมอ อย่างไรก็ตาม หลักอธิษฐานธรรมจะสร้างความมั่นคงให้กับการดำเนินชีวิต ๔ ประการ คือ มีความมั่นคงในการใช้ปัจจัย ๔ การพัฒนาพฤติกรรมของตนเอง การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาปัญญา และการพัฒนาสังคมตามลำดับ
|