การศึกษาวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (๑) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (๒) เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปในการบริหารจัดการวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (๓) เพื่อเสนอนำแนวทางในการบริหารจัดการวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้การวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Method Research) โดยการวิจัยเชิงคุณภาพเป็นงานวิจัยหลัก ใช้วิธีการศึกษาวิจัยเอกสาร (Documentary Research) โดยการสัมภาษณ์บุคคลแบบเจาะลึก (In-depth interview) จำนวน ๒๐ รูป/คน และการสนทนากลุ่มเฉพาะ ๙ รูป/คน และการวิจัยเชิงปริมาณเป็นงานวิจัยสนับสนุน โดยมีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในในการวิจัย ไดแก พระสงฆ์เขตปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๓๕๒ รูป โดยใช้วิธีการสุ่มแบบแบงกลุม (Cluster Sampling) เครื่องมือวิจัยที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) ลักษณะของแบบสอบถามทั้งปลายปิดและปลายเปิด ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลที่ไดโดยหาค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) สวนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : S.D.)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. การบริหารจัดการวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า (๑) ด้านการจัดบริเวณวัด เป็นการพัฒนาศาสนสถานและศาสนวัตถุ ให้สวยงามประหยัด เรียบง่าย สอดคล้องต่อศิลปะวัฒนธรรมประเพณีของชาติ และท้องถิ่น (๒) ด้านการจัดการปกครองพระภิกษุ สามเณรและศิษย์วัด มีการสอดส่องดูแลเพื่อให้การปกครองเป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง ประกาศของมหาเถรสมาคมหรือพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช (๓) ด้านการจัดการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณรและประชาชน มีความมุ่งหมาย ๔ ลักษณะ คือ ๑. การจัดการศึกษาเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม ๒. การสงเคราะห์ให้เด็กและประชาชนได้รับการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน ๓. การสอนศีลธรรมในสถานศึกษาทั่วไป ๔. การสงเคราะห์เกื้อกูลแก่การศึกษา (๔) ด้านการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศีลธรรม มีการดำเนินการช่วยเหลือสังคมทางกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย
๒. สภาพทั่วไปในการบริหารจัดการวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า พระภิกษุและสามเณร มีทัศนะต่อการบริหารจัดการวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านต่างๆ ดังนี้ ด้านการจัดบริเวณวัด คิดเป็นร้อยละ ๓๗.๔๒ ด้านการจัดการปกครองพระภิกษุ สามเณรและศิษย์วัด คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๙๑ และด้านการจัดการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณรและประชาชน คิดเป็นร้อยละ ๖.๔๕ ด้านการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศีลธรรม คิดเป็นร้อยละ ๔๓.๒๒
๓. แนวทางในการบริหารจัดการวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย (๑) การจัดบริเวณวัด ได้แก่ การจัดทำแผนผังวัด การจัดการระบบสาธารณูปโภคให้ดี การวางแผนในการซ่อมแซม บูรณปฏิสังขรณ์วัด การปลูกต้นไม้ เพื่อความร่วมรื่น การจัดทำป้ายชื่อ และประวัติวัด และการจัดทำแผนพัฒนาวัด ๑ ปี ๓ ปี ๕ ปี (๒) การจัดการปกครองพระภิกษุ สามเณรและศิษย์วัด ได้แก่ บัญชีทะเบียนประวัติ วางระเบียบข้อบังคับสำหรับการปฏิบัติ การประชุมอบรมบุคลากรภายในวัด การให้ศึกษาพระธรรมวินัย การอบรมศีลธรรมแก่ศิษย์วัด มีการปกครองตามลำดับ แบ่งหน้าที่ให้รับผิดชอบ (๓) การจัดการศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณรและประชาชน ได้แก่ การส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม การจัดอบรมนักธรรม บาลี ก่อนสอบ การส่งเสริมครูสอนพระปริยัติธรรม การจัดทำแผนการสอน และการจัดสวัสดิการให้แก่ครู การตั้งทุน และมอบทุนการศึกษา และการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ภายในวัด (๔) การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศีลธรรม ได้แก่ มีการแสดงธรรมแก่ประชาชนตลอดทั้งปี การส่งเสริมให้พระสอนศีลธรรมในโรงเรียนไปอบรมเด็กและเยาวชน การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุก จัดโครงการปฏิบัติธรรม โครงการบวชสามเณรภาคฤดูร้อน มีการจัดทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภายในวัด การจัดค่ายคุณธรรม
ดาวน์โหลด
|