การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ๒) เพื่อศึกษาการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร) และ ๓) เพื่อวิเคราะห์แนวคิดการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร) การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยใช้การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) จำนวน ๑๐ รูป/คน
จากการวิจัยพบว่า
๑) การบริหารกิจการคณะสงฆ์ พบว่า มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ๒ ฉบับ คือ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ บัญญัติอำนาจและหน้าที่เจ้าอาวาสไว้โดยชัดเจน มี ๖ ด้าน คือ ด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่ ด้านสาธารณูปการ และด้านการสาธารณสงเคราะห์
๒) การบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร) พบว่า
ด้านการปกครอง พระเดชพระคุณ ฯ มีหน้าที่ทางการปกครองอยู่ ๒ หน้าที่ หน้าที่แรก คือ เจ้าอาวาสวัดมหาพุทธาราม โดยใช้วิธีกำหนดกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับในการปกครองพระภิกษุสามเณร ภายในวัด และอีกหน้าที่คือรองเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีหน้าที่กลั่นกรองพระสงฆ์ให้เข้ามาสนองงานคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษในตำแหน่งต่าง ๆ และร่วมกับเจ้าคณะจังหวัดในแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์
ด้านการศาสนศึกษา พระเดชพระคุณ ฯ ได้กำหนดนโยบายให้คณะสงฆ์ทุกอำเภอจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และแผนกบาลีให้มากขึ้น ให้อบรมเสริมความรู้แก่พระนวกะในเขตการปกครอง ส่งเสริมสนับสนุนพระภิกษุสามเณร เจ้าคณะพระสังฆาธิการในจังหวัดศรีสะเกษให้ได้รับการศึกษามากขึ้น และยังมีหน้าที่บริหารงานของวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ
ด้านการศึกษาสงเคราะห์ พระเดชพระคุณ ฯ ได้ตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรและเด็กนักเรียนทั่วไป มีการมอบทุนการศึกษาเป็นประจำทุกปี ใช้โรงเรียนการกุศลของวัดที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการสงเคราะห์ให้เด็กได้มีที่เรียน ตลอดจนได้ร่วมถวายความรู้ให้กับพระนิสิตของวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษในฐานะอาจารย์ประจำที่นอกเหนือจากตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษอีกด้วย
ด้านการเผยแผ่ พระเดชพระคุณ ฯ ส่งเสริมให้พระสงฆ์มีบทบาทในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนไปสู่ประชาชนทุกเพศทุกวัย จัดให้วัดมหาพุทธารามเป็นที่ตั้งของศูนย์พระธรรมทูตประจำจังหวัดศรีสะเกษ และสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดศรีสะเกษ แห่งที่ ๑ และได้อาศัยองค์กรวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษเป็นตัวช่วยหลักในการเผยแผ่ เนื่องจากวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษเป็นแหล่งที่ผลิตนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาชั้นเยี่ยม
ด้านสาธารณูปการ พระเดชพระคุณ ฯ ได้พัฒนาวัดมหาพุทธารามจนมีเสนาสนะที่เพียงพอ และพัฒนาวัดบ้านอะลางซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของพระเดชพระคุณ ฯ ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ
ด้านสาธารณสงเคราะห์ พระเดชพระคุณ ฯ ได้จัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์โดยการนำคณะสงฆ์ ส่วนราชการ และประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษร่วมบริจาคเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบอุกทกภัยหรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ และจัดให้มีโครงการทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยอื่น ๆ
๓) แนวคิดการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร) พบว่า พระเดชพระคุณ ฯ ได้น้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ หลักพรหมวิหารธรรม หลักอปริหานิยธรรม หลักสารานียธรรม และหลักสังคหวัตถุ ๔ รวมถึงหลักกฎหมายคณะสงฆ์ และแนวคิดส่วนตัว ได้แก่ หลักลูกศิษย์กับอาจารย์ หลักสงเคราะห์กุลบุตรกุลธิดาของพุทธศาสนทายาทให้มีที่เรียน หลักตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา หลักตรึงอยู่กับที่ หลักก้าวออกไปจากฐาน หลักไม่ต้องใหญ่แต่ต้องร่มรื่น หลักการทำลายย่อมไม่เกิดประโยชน์ หลักเคลื่อนตัวให้ไว-เข้าไปให้ถึงจุดที่ควรจะไป และหลักการบริหารตามแนวตามแนวของท่านเจ้าคุณพิพิธ
ข้อเสนอแนะ คณะสงฆ์ควรนำแนวคิดและหลักการบริหารของพระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร) มาบูรณาการต่อคณะสงฆ์ รวมทั้งควรน้อมนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาและแนวคิดของ พระเดชพระคุณ ฯ มาใช้เพื่อพัฒนาการบริหารกิจการคณะสงฆ์ให้มีประสิทธิภาพตามแนวทางที่พระราชธรรมสารสุธี (ธีรังกูร ธีรงฺกุโร) ได้นำมาใช้
|