การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือประชาชนที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไปเป็นประชากรในการศึกษา โดยเลือกประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วงในอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จำนวน ๓๘๒ คน จากจำนวนประชากร ๘,๕๕๓ คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง โดยการเปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างของเครซี่และมอร์แกน (R.V.Krejcie & Morgan) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของประชากร คือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ระดับความคิดเห็นต่อประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี คือ ค่าความถี่ (Frequencies) ร้อยละค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)และทดสอบสมมติฐานโดยเพื่อบรรยายข้อมูลปัจจัยส่วนบุคคล การทดสอบค่าที(t-test) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม และการทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One Way ANOVA) เพื่อทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง ประชาชนมีความคิดเห็นโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( = 3.๑๖) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน มีเพียงด้านการติดตามผลที่อยู่ในระดับน้อย มีค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยตามลำดับ คือ ด้านสถานที่ให้บริการ ( = ๓.๓๙) ด้านกระบวนการให้บริการ ( = ๓.๑๒) ด้านการปฏิบัติงานของบุคลากร ( = ๓.๑๑) และด้านการการวางแผน ( = ๓.๐๒)
๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนต่อประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ เพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ และอาชีพ พบว่า ประชาชนที่มี อายุ ระดับการศึกษา รายได้ และอาชีพ ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนประชาชนที่มีเพศต่างกันมีความคิดเห็นต่อประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ไม่แตกต่างกัน
๓) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง พบว่าประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่องค์การบริหารส่วนตำบลจัดขึ้น นโยบายต่างๆ ถูกกำหนดจากบนลงล่างซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการและสภาพปัญหาของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งประชาชนไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชน และงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้จัดกิจกรรมด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนขึ้น ส่วนด้านข้อเสนอแนะองค์การบริหารส่วนตำบลควรเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจน โดยการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล ด้านเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจและจริงใจเสมือนว่าประชาชนทุกคนเป็นญาติมิตรของตนเอง การวางแผนการปฏิบัติงาน ควรมีการสำรวจสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างปัญหากับแนวทางแก้ไข และรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานให้อย่างเพียงพอและเหมาะสม
๔) ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกบุคคลผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประสิทธิผลของผู้บริหารในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี สามารถสรุปได้ดังนี้ การแก้ไขปัญหาความยากจนจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับกระบวนการให้บริการกับประชาชนอย่างแท้จริง มีการสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ก่อนที่จะกำหนดเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดกิจกรรมด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเพียงพอ ส่วนภาคประชาชนควรให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และคอยติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐและประชาชน
|