วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามทัศนะพนักงานส่วนตำบล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ๒) เพื่อเปรียบเทียบการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามทัศนะพนักงานส่วนตำบล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามทัศนะพนักงานส่วนตำบล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม ใช้การวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้การวิจัยเชิงสำรวจในเบื้องต้น กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ พนักงานส่วนตำบล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน ๒๔๔ คน จากจำนวนประชากร ๖๒๕ คน ที่ได้มาด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างโดยการเปิดตารางของ Taro Yamane ซึ่งมีระดับความเชื่อมั่นที่ ๐.๐๕ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : SD) การทดสอบค่าที (t-test) การทดสอบค่าเอฟ (F-test) การทดสอบความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) และการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) จำนวน ๑๒ รูป/คน และใช้การวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑) การบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล ตามทัศนะพนักงานส่วนตำบล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก รวม ๔ ด้าน อยู่ในระดับมาก ( =๓.๗๑, S.D.=๐.๖๓) เมื่อพิจารณาตามรายด้าน พบว่า ค่าเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ด้านการธำรงรักษาและป้องกันทรัพยากรมนุษย์ ( =๓.๗๔, S.D.=๐.๖๕) รองลงมา ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ( =๓.๗๓, S.D.=๐.๗๑) ด้านการจัดหาทรัพยากรมนุษย์ ( =๓.๗๑, S.D.=๐.๗๑) และค่าเฉลี่ยต่ำสุด ด้านการให้รางวัลทรัพยากรมนุษย์ ( =๓.๖๗, S.D.=๐.๗๐) ตามลำดับ
๒) พนักงานส่วนตำบลที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา รายได้และประสบการณ์ทำงาน ต่างกัน มีทัศนะต่อการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ไม่แตกต่างกัน
๓) ผลการศึกษา ปัญหา อุปสรรค ในการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พบว่า มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ในจัดหาบุคคลากรเข้าทำงาน คัดเลือกเครือญาติเข้ามาทำงาน เรียกรับผลประโยชน์ในการบรรจุพนักงาน ไม่สนับสนุนการพัฒนาบุคลากร จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรไม่เพียงพอ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรไม่ต่อเนื่อง จัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอต่อการจัดสวัสดิการให้บุคลากรอย่างเหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน การพิจารณาความดีความชอบเห็นแต่ความสำคัญกับเครือญาติ พนักงานไม่มีความผูกพันกับองค์กร มีการโอนหรือย้ายบ่อย ไม่มีนโยบายสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน ไม่มีนโยบาย ให้คำปรึกษาแก่พนักงานในการโอนย้าย ปรับเปลี่ยนตำแหน่ง
ส่วนข้อเสนอแนะ มีดังนี้ ผู้บริหารควรเว้นจากอคติ ควรใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ และปฏิบัติตามหลักเหฏฐิมทิศ ใช้หลักธรรมสำหรับนักปกครองนักบริหารที่ดี หลักความถูกต้อง มีการพิจารณาวินิจฉัยปัญหา การทำการตัดสินใจและสั่งการด้วยความถูกต้อง รู้จักคิด พูด ทำ กิจการงาน และปฏิบัติงานได้เหมาะสม
|