การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาประสิทธิผลการปฏิบัติงานของครูฝึกในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๖ จังหวัดนครสวรรค์ 2) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการปฏิบัติงานของครูฝึกในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๖ จังหวัดนครสวรรค์ 3) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานของครูฝึกในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๖ จังหวัดนครสวรรค์ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือผู้เข้ารับการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๖ จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๓๐๒ คน จากจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม ๑,๒๓๓ คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง โดยการใช้สูตรของ Taro Yamane เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ (Frequencies) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการทดสอบค่าเอฟ (F-test) ด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว(One Way ANOVA) ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๗ คน และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ประสิทธิผลการปฏิบัติงานของครูฝึกในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๖ จังหวัดนครสวรรค์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ย ( =๓.๔๕) เมื่อพิจารณาจากราย ละเอียดแต่ละด้านพบว่า ด้านเอกสาร อุปกรณ์และโสตทัศนูปกรณ์ ด้านคุณสมบัติของครูฝึกอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านเนื้อหาสาระในการฝึกอบรม และด้านการปกครองบังคับบัญชานักเรียนนายสิบตำรวจและผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน
๒) เปรียบเทียบประสิทธิผลการปฏิบัติงานของครูฝึกในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๖ จังหวัดนครสวรรค์ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ ชั้นยศ และหลักสูตรที่เข้ารับการฝึกอบรม พบว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่มี อายุ ระดับการศึกษา รายได้ ชั้นยศและหลักสูตรที่เข้ารับการฝึกอบรม ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานของครูฝึกในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๖ ไม่แตกต่างกัน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิผลการปฏิบัติงานของครูฝึกในศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค ๖ จังหวัดนครสวรรค์ พบว่า ครูฝึกขาดการเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการปฏิบัติงานใหม่ๆ ให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรม การถ่ายทอดความรู้ศิลปะป้องกันตัวยังเป็นแบบเดิมๆ ที่เคยฝึกมา ไม่มีรูปแบบใหม่ๆ ครูฝึกรุ่นเก่ายังยึดติดและเคยชินกับรูปแบบตามแบบฝึกแบบเดิม และระบบการยิงปืนพกตามหลักสูตรที่บรรจุอยู่ในแบบฝึกยุทธวิธี ยังไม่มีความทันสมัยกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ครูฝึกไม่มีเอกสารประกอบการฝึกให้ศึกษา ส่วนมากเป็นการอธิบายทำความเข้าใจ และฝึกปฏิบัติทันที อุปกรณ์การฝึกของครูฝึก มีไม่เพียงพอและไม่มีมาตรฐานเช่นปืนพลาสติกที่ใช้ในการฝึกไม่มีคุณภาพ และไม่เหมาะกับการใช้ฝึก ครูฝึกมีความชำนาญในการฝึกอบรมในเรื่องเดิมๆ โดยไม่ได้มีการต่อยอดความรู้ใหม่ๆ ครูฝึกบางท่านมีอายุค่อนข้างมาก และร่างกายไม่แข็งแรงทำให้เป็นอุปสรรคสำหรับภาคการฝึกต่างๆ ครูฝึกมีจำนวนน้อยเนื่องจากตำแหน่งที่ปฏิบัติงาน ได้รับเงินประจำตำแหน่งน้อยกว่าสายงานอื่น ทำให้ขาดแคลนไม่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงาน และครูฝึกไม่ได้พักผ่อนเนื่องจากครูมีจำนวนน้อย ต้องทำงานมากขึ้น การฝึกอาวุธปืนของครูฝึกหลายท่านยังเป็นแบบเดิม เนื่องจากต้องสอนตามตำราของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีครูบางท่านที่หาเทคนิคการฝึกแบบใหม่ มาสอนเพิ่มเติมให้นอกเหนือจากในตำรา ในแต่ละหลักสูตรมีจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก ทำให้ครูฝึกไม่สามารถดูแลผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้อย่างทั่วถึง จำนวนครูฝึกมีน้อย ไม่สมดุลกับผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทำให้การดูแลได้อย่างไม่ทั่วถึง ครูฝึกมีชั้นยศที่ต่ำกว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้เข้ารับการอบรมกับครูฝึก ครูฝึกไม่กล้าออกคำสั่งได้อย่างเต็มที่
|