การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ คือ ๑. เพื่อศึกษาภาวะผู้นำของพระสังฆาธิการในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ไทย ๒. เพื่อศึกษาบทบาทในการเป็นผู้นำการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุธมหาเถร) ๓. เพื่อศึกษาภาวะผู้นำของพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺาวุธมหาเถร) ที่สามารถประยุกต์ใช้กับการบริหารกิจการคณะสงฆ์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ชึ่งใช้การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) สัมภาษณ์เชิงลึก (In depth interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๑๒ รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบปริบท (Content Analysis Technique) ผลการวิจัยสามารถสรุปและมีข้อเสนอแนะตามลำดับ ดังนี้
ผลการวิจัยพบว่า
ภาวะผู้นำในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ของพระพรหมจริยาจารย์ (สงัด ปญฺญาวุธมหาเถร) ตามภารกิจ ๖ ด้าน ดังนี้
๑)ด้านการปกครอง
ได้ใช้หลักการปกครองด้วยการบริหารโดยความถูกต้อง ตามหลักพระธรรมวินัยและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พร้อมทั้งกฎระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ มหาเถรสมาคม ปกครองด้วย สาราณียธรรม พรหมวิหารธรรม โดยต้องอาศัยผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำ เป็นผู้ชักจูงประสาน ส่งเสริมสนับสนุน และผลักดันให้เกิดการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบเหล่านี้
๒)ด้านการศาสนศึกษา
จะเริ่มจากการให้การศึกษาทั้งคันถธุระ และการมีคุณธรรมควบคู่กันไป โดยวิธีการก็คือ สร้างแรงจูงใจและความร่วมมือ ให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของเป้าหมายคือความสำเร็จ สนับสนุน อุปถัมภ์ และมอบหมายงานให้ตามความเหมาะสม ๓)ด้านการศึกษาสงเคราะห์
ได้ดำเนิน การอยู่มี ๒ ประการ คือ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และการให้การสนับสนุนสถาบันการศึกษาและบุคคลผู้กำลังศึกษา แนวทางการบริหารงานของท่านคือ เสียสละ ทำตนเป็นแบบอย่าง เลือกบุคลากรร่วมงานที่เหมาะสมกับงาน ให้การสนับสนุนส่งเสริม ให้ข้อเสนอแนะ ช่วยแก้ไขปัญหา
๔)ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ได้ใช้หลักการเผยแผ่แบบบูรณาการ สิ่งใดที่เป็นองค์ประกอบในการเผยแผ่ เช่น จัดทำสื่อทางพระพุทธศาสนา วีดีทัศน์คุณธรรม จัดพิมพ์หนังสือธรรมะ เผยแผ่หลักธรรมทางสื่อวิทยุ พร้อมกันนั้นท่านยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดแสดงพระธรรมเทศนาตามงานบำเพ็ญกุศลและงานบุญ ต่าง ๆ ของวัด โดยการปฏิบัติงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ
๕)ด้านสาธารณูปการ
เป็นการพัฒนาของวัดอย่างเป็นรูปธรรม สร้างถาวรวัตถุ จะเน้นความสวยงามและที่สำคัญไปกว่านั้นคือประโยชน์ใช้สอย พร้อม ๆ กันไปกับการพัฒนาบุคลากร และการวางแผนบูรณปฏิสังขรณ์หรือการก่อสร้าง ร่วมทั้งหาทุนจากแหล่งที่เหมาะสม
๖)ด้านการสาธารณสงเคราะห์
คือการนำเอาสิ่งของต่าง ๆ ไปช่วยเหลือสังคม โดยยึดหลักที่ว่า บ้านกับวัดต้องไปพร้อมกัน พระนักพัฒนาต้องช่วยสังคม เสียสละเพื่อประโยชน์สุขของสังคม
|