หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พลภัทร ปิ่นทอง
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การบริหารโรงเรียนของรัฐตามหลักพรหมวิหารธรรมของโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : พลภัทร ปิ่นทอง ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสม กลฺยาโณ
  พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตติปญฺโญ,ดร.
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

  การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการปรับใช้หลักพรหมวิหารธรรมในการบริหารงานโรงเรียนของรัฐ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการปรับใช้หลักพรหมวิหารธรรมในการบริหารงานโรงเรียนของรัฐจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารโรงเรียนของรัฐ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ครู เจ้าหน้าที่และนักการ ของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ จำนวน ๒๖๓ คน แบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยมีการหาคุณภาพ โดยการหาความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content Validity) จากผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๕ ท่าน และมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ ๐.๙๗๓ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance)

ผลการวิจัย พบว่า  
ครู เจ้าหน้าที่และนักการมีความคิดเห็นว่า การบริหารงานตามหลักพรหมวิหารธรรม ของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ครู เจ้าหน้าที่และนักการมีความคิดเห็นว่า การบริหารงานตามหลักพรหมวิหารธรรม ของโรงเรียนมัธยมศึกษา อยู่ในระดับมากทุกด้าน
การเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อการบริหารงานโรงเรียนของรัฐตามหลักพรหมวิหารธรรม ของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า ครู เจ้าหน้าที่และนักการที่มีเพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่ อายุการทำงานที่ต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารงานโรงเรียนของรัฐตามหลักพรหมวิหารธรรม ของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ 
ปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวกับการบริหารงานโรงเรียนตามหลักพรหมวิหารธรรมของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนมีความรักใคร่ ปรารถนาดีแก่ครู หรือเจ้าหน้าที่ยังน้อยอยู่ บางครั้งมีการใช้อำนาจเกินขอบเขต และมีการใช้อารมณ์ในการสั่งการ ทั้งนี้การดูแลทุกข์สุขของครู เจ้าหน้าที่ และบุคลากร เพียงแค่นาน ๆ ครั้ง รวมถึงไม่มีโอกาสชี้แจงข้อกล่าวหาเมื่อกระทำความผิด จึงทำให้ขาดขวัญและกำลังใจจากผู้บริหารโรงเรียน การสนับสนุนให้ครู เจ้าหน้าที่ และบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น ยังไม่ทั่วถึง บางครั้งไม่ได้กำลังใจ หรือการชื่นชมในการกระทำความดี และปฏิบัติตนต่อครู เจ้าหน้าที่ และบุคลากร ทุกคนยังไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังขาดการชี้แจงกฎระเบียบข้อบังคับอย่างถูกต้อง
ส่วนข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการบริหารงานโรงเรียนตามหลักพรหมวิหารธรรมของโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑ พบว่า ผู้บริหารโรงเรียนควรให้ความรักใคร่ ปรารถนาดีแก่ครู เจ้าหน้าที่ และบุคลากรมากขึ้น รวมถึงควรใช้อำนาจในขอบเขตที่กำหนด และควรสั่งการด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทั้งนี้ควรสนใจทุกข์สุขของครู เจ้าหน้าที่ และบุคลากรให้มากขึ้น มีการเปิดโอกาสให้ชี้แจงข้อกล่าวหาทุกครั้งเมื่อกระทำความผิด ตลอดถึงควรส่งเสริม และสร้างขวัญกำลังใจแก่ครู เจ้าหน้าที่ และบุคลากรมากขึ้น นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ความ สามารถเพิ่มขึ้นอย่างทั่วถึง มีการให้กำลังใจแก่ผู้กระทำความดีทุกครั้งที่มีโอกาส และปฏิบัติต่อบุคลากร ทุกคนด้วยความเสมอภาค และควรชี้แจงกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ให้ถูกต้อง และครบถ้วนอยู่เสมอ

ดาวน์โหลด


 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕