การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาศักยภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อเปรียบเทียบทัศนะของพุทธศาสนิกชน เกี่ยวกับศักยภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหา และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับศักยภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ พุทธศาสนิกชน ประกอบด้วย พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร จำนวน ๔๐๐ รูป/คนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัย โดยการหาความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content Validity) จากผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๕ ท่าน และมีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) เท่ากับ ๐.๙๖ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance)
ผลการวิจัย พบว่า
๑) ศักยภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พบว่า ความคิดเห็นของพุทธศาสนิกชนเกี่ยวกับศักยภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า พุทธศาสนิกชนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน
๒) การเปรียบเทียบความคิดเห็นของพุทธศาสนิกชนเกี่ยวกับศักยภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า พุทธศาสนิกชนที่มีสถานภาพ อายุ การศึกษา อาชีพ และรายได้ต่อเดือนต่างกัน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับศักยภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการในเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร โดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
๓) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับศักยภาพการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการในเขตภาษีเจริญต้องมีวิสัยทัศน์ในการบริหารงานของพระสังฆาธิการมีหลายอย่าง เช่น การศึกษา และการเผยแผ่ ที่พระสังฆาธิการจะต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารงานโดยการเข้าอบรม การเรียนหลักสูตรต่าง ๆ นอกจากนี้ พระสังฆาธิการซึ่งเป็นผู้ได้ศึกษาพระไตรปิฎกครบถ้วนแล้วนำเอาหลักธรรมมาสอนหรือเผยแผ่ให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ปริยัติ เข้าใจการปฏิบัติ และเข้าถึงปฏิเวธ ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นการบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้พระสังฆาธิการจะต้องสนใจการพัฒนาธำรงรักษาให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติงานในองค์การเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ มีสุขภาพจิตที่ดีในการทำงาน โดยมีวิธีการในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นการบริหารที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่คนในปัจจุบันต้องยึดวิธีการของพระองค์เป็นแบบอย่างหรือแนวทางในการบริหาร ที่จะต้องนำหลักธรรมต่าง ๆ เช่น พรหมวิหาร ๔ ไตรสิกขา อิทธิบาท ๔ เป็นต้น มาใช้ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ พระสังฆาธิการจะต้องมีการประเมินจากสังคม เพื่อการสร้างศรัทธาในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ของพระสังฆาธิการให้ดีขึ้น
|