การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาระดับประสิทธิผลการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานในสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก จำนวน ๒๐๐ คน ซึ่งใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง โดยการใช้สูตรของ Taro Yamane เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ (Frequencies) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) โดยใช้การทดสอบไคสแควร์ (Chi-Square test) ทดสอบค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s Correlation Coefficient) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) จำนวน ๗ ท่าน และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ปัจจัยแวดล้อมโดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย ( =3.51) เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดแต่ละด้านพบว่า ด้านบุคลากร และด้านอำนวยการอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านการบริหารจัดการ อยู่ในระดับปานกลาง
๒) ประสิทธิผลการบริหารงานของสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ย ( =3.49) เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดแต่ละด้านพบว่าด้านการปฏิบัติงานมีความถูกต้องรวดเร็วอยู่ในระดับมาก ส่วนด้านการปฏิบัติงานมีความโปร่งใสเป็นธรรม และด้านการปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด อยู่ในระดับปานกลาง
๓) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ ชั้นยศ อายุ ระดับการศึกษา และระยะเวลาการปฏิบัติงาน พบว่า อายุ ระดับการศึกษา และระยะเวลาการปฏิบัติงาน ไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย ส่วนชั้นยศมีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย ปัจจัยแวดล้อมมีความสัมพันธ์ กับประสิทธิผลการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ด้านการบริหารจัดการ ในระดับสูงมาก จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย
๔) ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิผลการบริหารงานสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก พบว่า งบประมาณในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ยานพาหนะสำหรับเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณเช่นเครื่องมือประเภท กล้อง cctv คุณภาพสูงเพื่อติดตามทางแยกสำคัญที่ตรวจจับภาพตอนกลางคืนได้อย่างชัดเจน ขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะบุคลากรด้านเทคโนโลยี ปัจจุบันใช้บุคลากร และบริหารบุคลากรภายใต้ความขาดแคลน เจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการไม่ได้รับสวัสดิการเช่นเบี้ยเลี้ยง เงินเสี่ยงภัย ในเวลาที่ต้องออกตรวจนอกเวลางานปกติในบางครั้ง การปฏิบัติงานด้านคดีที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำได้ทันในเวลาปกติเนื่องจากปริมาณงานกับบุคลากรไม่สมดุลกัน การทำงานของตำรวจมีผลกับผู้ถูกจับกุมการจะสรุปสำนวนคดีต่างๆให้ได้ความรวดเร็ว ต้องมีความละเอียดบางครั้งจึงเป็นการยากที่จะทำงานให้ได้เร็วทุกคดี ข้อมูลต่างๆที่จะเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้ไม่ได้รับข่าวสาร ข้อเสนอแนะควรจัดทำคำของบประมาณโดยแผนกที่รับผิดชอบ เสนอคำของบประมาณประจำปี เกี่ยวกับเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ฝ่ายกำลังพลควรเสนอขอกำลังพลเพิ่มในส่วนที่ขาด และเรียกกำลังพลในส่วนที่ไปช่วยราชการที่หน่วยอื่นกลับมาประจำที่เดิม ควรจัดสรรงบประมาณให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ ให้ได้รับเงินชดเชยแทนเงินเสี่ยงภัยในกรณีที่ต้องออกปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่สายงานป้องกันปราบปราม ควรสนับสนุนบุคลากรให้มีการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
|