การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำที่พึงประสงค์ตามหลักศาสนาพุทธ ๒) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำที่พึงประสงค์ตามหลักศาสนาอิสลาม ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการบูรณาการภาวะผู้นำตามหลักศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยเป็นการวิเคราะห์เอกสาร (Documentary Analysis) ทำศึกษาภาวะผู้นำตามแนวคิดทฤษฎีตะวันตก แนวคิดตามหลักศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม โดยศึกษาจากพระไตรปิฎกพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อัลฮาดิษ (พระวจนะและพระจริยวัตรของท่านศาสดามูฮัมหมัด(ซ.ล.)) หนังสือ ตำรา และเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์บทสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) จากผู้ทรงคุณวุฒิใน ๓ กลุ่มได้แก่ ๑. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระพุทธศาสนาจำนวน ๓ ท่าน ๒. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลามจำนวน ๓ ท่าน ๓. ผู้นำองค์กรจำนวน ๔ ท่าน โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Technique) ตามโครงสร้างของแบบสัมภาษณ์ ประกอบการสังเกตของผู้วิจัย
ผลการวิจัยพบว่า ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม มีหลักความเชื่อพื้นฐานตรงกันคือ มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ถือหลักความจริง ความถูกต้อง ความดีงามและเหตุผลเป็นใหญ่ และความคิดเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวางแจ้งชัดและพิจารณาอย่างดีที่สุด ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ไม่ว่าเชื้อชาติ ผิวพรรณ ภาษาถิ่นกำเนิด แม้จะแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม จะไม่ทำให้เกิดเอกสิทธิ์ ศักดิ์ศรีเหลื่อมล้ำแก่กัน สิทธิเสรีภาพเป็นสิ่งที่หอมหวานสำหรับมนุษย์ทุกคน และสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีมาแต่กำเนิด ไม่มีผู้ใดสามารถพรากเอาสิทธินี้ไปจากมนุษย์ได้ ทั้งประเด็นต่อมาทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับอำนาจการปกครองที่อยู่บนความถูกต้องตามหลักเหตุผล มีคุณธรรมจริยธรรมเป็นตัวตั้ง ผู้ปกครองและผู้ที่อยู่ใต้การปกครองถูกเชื่อมภายใต้ภารดรภาพเดียวกัน การใช้อำนาจของผู้นำของทั้งสองศาสนาเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นต้องมีหลักธรรมกำกับเสมอ ผู้ปกครองที่ยึดหลักการเหล่านี้ย่อมส่งผลให้เกิดการปกครองที่ดี การจัดการที่ดี มีคุณธรรม มีธรรมาภิบาล (Good Governance) อันจะส่งผลให้สังคมอยู่รวมกันได้อย่างสงบสุข สมาชิกทุกคนมีความสมานฉันท์ ไม่เบียดเบียนกัน ด้วยเห็นว่ามีหลักธรรมเป็นใหญ่ การจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรนั้นจะต้องมีระบบบริหารที่ดี ผู้นำและสมาชิกต้องรู้จักรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง ตามหลักการบริหารงานตามหลักลำดับชั้น เพื่อความสำเร็จและความยั่งยืนขององค์กร
คุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้นำทางศาสนาพุทธ ตามแบบฉบับของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงใช้ภาวะผู้นำในรูปแบบของพุทธวิธีทรงนำพุทธสาวกและมวลมนุษย์สู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง โดยการปฏิบัติตนตามแนวทางที่ทรงตรัสรู้ด้วยศีล สมาธิ และปัญญา ไม่มีความสุขใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในหลักธรรม การลดละซึ่งความโลภ ความโกรธและความหลง ไม่ตกอยู่ภายใต้การจองจำของสังคม ย่อมเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้โลกนี้มีความน่าอยู่ขึ้น พระองค์ทรงวางแนวทางในการปกครองด้วยรูปแบบธรรมาธิปไตย เป็นการปกครองโดยถือธรรมเป็นใหญ่ ถือความถูกต้องเป็นหลัก เป็นกัลยาณมิตรของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต้องปฏิบัติต่อทุกคนด้วยบรรทัดฐานแห่งหลักธรรมด้วยความเท่าเทียมกัน สามารถนำพาองค์กรและสมาชิกไปในทางที่ถูกต้องโดยไร้อคติ และพระองค์ทรงได้มอบพระธรรมวินัยและบทบัญญัติต่างๆ เป็นมรดกเพื่อสืบทอดเป็นพระศาสดาแทนพระองค์สืบมา
คุณลักษณะและคุณสมบัติของผู้นำทางศาสนาอิสลาม ตามแบบฉบับของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ผู้ซึ่งเป็นต้นแบบของผู้นำที่พึงประสงค์ตามหลักศาสนาอิสลาม จะพบว่าท่านมีบุคลิกภาพแห่งการเป็นผู้นำอย่างครบถ้วน และดีเยี่ยมในฐานะทูตของพระผู้เป็นเจ้า เป็นประชาชาติต้นแบบของบรรดามุสลิมทั้งหลาย เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่เยี่ยมยอด ตลอดจนมีความสามารถเป็นเอกในการจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งของตนเองและของผู้คน มีคุณธรรมจริยาธรรมอันสูงส่ง มีจิตใจอันสะอาดบริสุทธิ์ ตลอดจนมารยาทที่ดีงาม ชีวิตของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.)คือ ทางนำและกุญแจดอกสำคัญที่จะไขให้เห็นความจริง ความประพฤติของท่าน คือตัวอย่างสำหรับมนุษยชาติที่จะทำให้ทุกคนปฏิบัติได้ทุกกาลเวลาและสถานที่ อิสลามเป็นทั้งระบบความเชื่อและแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ครอบคลุมพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกๆด้านตั้งแต่เกิดจนตาย นับตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ โดยมีรากฐานจากสองสิ่งคือพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานและแบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.)
|