หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูบรรพตพัฒนาภรณ์ (ครุโก)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบเรื่องวัยในศาสนาพุทธเถรวาทกับศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู
ชื่อผู้วิจัย : พระครูบรรพตพัฒนาภรณ์ (ครุโก) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๑๒/๒๐๑๔
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูโฆสิตพุทธิศาสตร์,ดร.
  ดร. สฤษฎ์ แพงทรัพย์
  ดร.แสวง นิลนามะ
วันสำเร็จการศึกษา : ๙ มีนาคม ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

  การศึกษาวิจัยนี้   มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ  คือ ๑) เพื่อศึกษาเรื่องวัยในศาสนาพุทธเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาเรื่องวัยในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องวัยในศาสนาพุทธเถรวาทกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผลการวิจัยพบว่า

ศาสนาพุทธเถรวาท มองว่า วงจรชีวิตที่เป็นไปอย่างปกติของมนุษย์คนหนึ่งในสังคม นั้นคือ เริ่มจากวัยเด็ก ไปสู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ที่สร้างฐานะทางครอบครัวและค่อยๆ ลดภาระงานลงไปเข้าสู่วัยเกษียณอายุ คือ อายุจากเด็กถึง ๒๐ - ๒๕ ปี เป็นวัยเรียนรู้ในระดับพื้นฐาน อายุ ๒๓ - ๖๐ ปี เป็นวัยทำงานเพื่อสร้างฐานะแก่ตนและครอบครัว  และวัยสุดท้าย คือ  วัยเกษียณอายุ ๖๐ ปี ขึ้นไป  ก็จะอยู่กับครอบครัวและลดภาระงานทุกอย่างให้น้อยลด  โดยใช้หลักธรรมที่ส่งเสริมวัย  ได้แก่            ๑) ปฐมวัย เช่น  กตัญญูกตเวที   อิทธิบาท  การคบมิตร  เบญจศีลเบญจธรรม  ๒) มัชฌิมวัย  เช่น สมชีวธรรม ฆราวาสธรรม  หน้าที่หลักคู่สมรส กุลจิรัฏฐิติธรรม  พรหมวิหารธรรม  สังคหวัตถุธรรม สาราณียธรรม และ ๓) ปัจฉิมวัย   เช่น   ไตรลักษณ์   อริยสัจ   กรรม   พรหมวิหาร    สังคหวัตถุ สติปัฏฐาน  อิทธิพลความเชื่อเรื่องวัยในสังคมชาวพุทธที่ปรากฏเด่นชัด คือ ๑)  ความอ่อนน้อมถ่อมตน และ ๒) การรู้จักปล่อยวาง  
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มองว่า วัย คือ ระยะเขตของชีวิต ได้จำแนกประเภทของวัยตามหลัก “อาศรมธรรม” โดยกำหนดระยะเวลาแห่งอายุ และหลักธรรมที่สอดคล้องกัน คือ ๑) พรหม-  จริยะ  วัยหรือขั้นตอนแห่งการศึกษาเล่าเรียน อายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง ๒๕ ปี   ๒) คฤหัสถะ  วัยแห่งการครองเรือน อายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง ๒๕ – ๕๐ ปี   ๓) วนปรัสถะ  วัยแห่งการอยู่ป่าหรืออยู่ในที่สงัด เป็นช่วงที่ ๓ ของชีวิต ถึงวัยอาวุโสอายุราว  ๕๑ – ๗๕ ปี  ๔) สันยาสี  วัยแห่งการสละโลกออกบวช เมื่อเข้าวัยชรา อายุ ๗๕ ปี ขึ้นไป  อิทธิพลความเชื่อเรื่องวัยที่ปรากฏเด่นชัด มี ๓ อย่าง คือ ๑) การอยู่รวมกันอย่างสงบสุข ๒) หลักเศรษฐกิจสมบูรณ์   และ ๓) หลักความเจริญก้าวหน้า 
จากการศึกษาเปรียบเทียบวัยในทางศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผู้วิจัยสรุปเป็นประเด็นเรื่องความเหมือนและความต่างได้ดังนี้
๑) ความเหมือนกัน ทั้งศาสนาพุทธเถรวาทและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมองว่า  วงจรชีวิตที่เป็นไปอย่างปกติของมนุษย์คนหนึ่งในสังคม เริ่มจากวัยเด็ก เป็นวัยเรียนรู้ในระดับพื้นฐาน เมื่ออายุเข้ากลางคนเป็นวัยทำงานเพื่อสร้างฐานะแก่ตนและครอบครัว และวัยสุดท้าย ก็คือ วัยเกษียณอายุ ๖๐ ปี ขึ้นไป ก็จะอยู่กับครอบครัวและลดภาระงานทุกอย่างให้น้อยลด ซึ่งในวัยแต่ละวัยนั้นต้องอาศัยหลักธรรมช่วยส่งเสริมจึงจะทำให้เกิดคุณค่าในแต่ละวัย  และยังส่งผลประโยชน์ถึงวัยต่อๆ ไป 
๒) ความต่างกัน เมื่อมองในมุมที่ต่างกัน  จะเห็นว่า หลักการดำรงชีพในทางศาสนาพุทธเถรวาทนั้น แม้จะมีวิธีการ  และรูปแบบที่ชัดเจนว่าการทำอย่างไรทำให้ชีวิตเจริญ  หรือตกต่ำ  แต่ไม่ได้เป็นกฎกติกาที่บังคับให้ต้องทำ เป็นไปในลักษณะของการชี้แนะว่าอย่างไรควรทำ  อย่างไรควรงดเว้น  ส่วนในทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  กำหนดเป็นรูปแบบที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะชีวิตในปฐมวัยที่ต้องดำเนินตามหลักของพรหมจรรย์  ที่เรียกว่าหลักฮินดูธรรม  หรือหลักอาศรม ๔  หากไม่ปฏิบัติตาม ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมฮินดู

ดาวน์โหลด


 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕