การศึกษาวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑)เพื่อศึกษาคุณธรรมของเทพในทัศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาคุณธรรมของเทพในทัศนะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณธรรมของเทพในทัศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผลการวิจัยพบว่า
คุณธรรมของเทพในทางพระพุทธศาสนา ได้แยกคุณธรรมที่เป็นเหตุให้เป็นเทพไว้ ๒ ประเด็นด้วยกัน คือ ๑) คุณธรรมก่อนเป็นเทพ เป็นคุณธรรมที่บำเพ็ญหรือปฏิบัติทำให้เกิดเป็นเทพ มีอยู่ ๓ ประการ ได้แก่ สัมปทา วัตตบท และบุญกิริยาวัตถุ ๒) คุณธรรมขณะเป็นเทพ เป็นคุณธรรมที่เทพพึงมีพึงปฏิบัติอยู่เสมอ ได้แก่ เทวธรรม และพรหมวิหารธรรม
คุณธรรมของเทพฮินดู ซึ่งมุ่งศึกษาเฉพาะเทพที่เป็นรูปธรรม ๓ กลุ่ม คือ ๑) พระพรหม เทพผู้สร้างและรังสรรค์ มีคุณธรรมประจำที่เรียกว่า พรหมวิหารธรรม ๒) พระวิษณุ เทพผู้ปกป้องและคุ้มครอง มีคุณธรรมคือการผู้ช่วยเหลือผู้ที่ประสบทุกข์ให้มีความสุข โดยไม่หวังผลตอบแทน และ ๓) พระศิวะ มหาเทพผู้ทำลายล้าง มีคุณธรรม คือ ความเมตตากรุณา และการข่มบุคคลที่สมควรข่ม ยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง
นัยที่เหมือนกันของทั้งสองศาสนาในประเด็นเรื่องคุณธรรมของเทพ คือ เทพในทั้งสองศาสนานั้นล้วนมีหลักธรรมที่เหมือนกันคือความมีเมตตา กรุณา เป็นพื้นของจิต ที่นึกสงสารผู้อื่นอยู่เสมอ ส่วนนัยที่ต่างกันคือทางพระพุทธศาสนาจะแยกเป็นคุณธรรมก่อนเป็นเทพอันเป็นสาเหตุให้ได้รับผลคือความเป็นเทพ และมีคุณธรรมที่เทพพึงมีอยู่เสมอ ส่วนคุณธรรมของเทพในทางศาสนาพราหมณ์จะเน้นถึงหน้าที่ของเทพผู้เป็นใหญ่ที่พึงกระทำเป็นสำคัญ คือความเป็นผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลาย
ความเป็นมนุษย์กับเทพจึงแตกต่างกันในบางแง่มุม แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามความที่เทพเจ้าก็เป็นสัตว์โลกเป็นเหตุให้เทพเจ้าต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของโลกเหมือนกับมนุษย์ ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวเรียกกันว่าเป็นธรรมะบ้างธรรมชาติบ้างหรือกฎสัจธรรมบ้าง ซึ่งกฎเหล่านี้เองที่ถือว่าเป็นสากลของโลกและจักรวาล และเนื่องจากเทพเจ้านั้นมีคุณธรรมที่สูงส่งในระดับที่เป็นภพภูมิที่เหนือกว่ามนุษย์ แต่ก็สามารถที่จะสื่อสารสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ ดังนั้น คุณธรรมของเทพเจ้าจึงสามารถที่จะนำมาเป็นกรอบหรือเป็นเกณฑ์ที่ทำให้มนุษย์ปฏิบัติเพื่อความสุขของชีวิตของสังคมได้เหมือนกันและคุณธรรมของเทพดังกล่าวก็ได้พัฒนามาเป็นพื้นฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมให้กับมนุษย์ได้
ดาวน์โหลด
|