วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาพระนิพพานในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาพรหมันในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และ (๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพระนิพพานในพระพุทธศาสนากับพรหมันในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
จากการศึกษาพบว่า เราจะพบความคล้ายคลึงกันของทัศนะทั้งสอง กล่าวคือ คัมภีร์ทั้งสอง แยกประเภทสิ่งสูงสุดออกเป็น ๒ ประเภทเหมือนกัน และพอที่จะเทียบเคียงกันได้ สอุปาทิเสส นิพพานนั้นเปรียบเทียบได้กับชีวันมุกติ อนุปาทิเสสนิพพานเปรียบเทียบได้กับวิเทหมุกติ ส่วนการอธิบายถึงสภาวะของสิ่งสูงสุด ในคัมภีร์ทั้งสองก็อธิบายในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน คือ ในฐานะเป็นสภาวะที่อยู่เหนือการเกิดและการตาย อยู่เหนือกาลเวลา เป็นสภาวะที่ปราศจากความทุกข์ทั้งมวล ปราศจากความหิวกระหาย ปราศจากบุญและบาป ปราศจากความโศกเศร้า เป็นสภาวะที่เป็นอมตะ และเป็นสภาวะที่มีอยู่ และการใช้คำในลักษณะปฏิเสธในการอธิบายถึงสภาวะของทั้งสอง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถใช้โวหารของมนุษย์พรรณนาได้ รวมทั้งการอธิบายถึงสภาวะในฐานะเป็นบรมสุข คือ เป็นความสุขสูงสุด แต่สภาวะที่แตกต่างกันอยู่ คือ นิพพานมีสภาวะเป็นอนัตตา ส่วนโมกษะมีสภาวะเป็นอัตตา
ส่วนวิธีการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสิ่งสูงสุด ก็มีทั้งส่วนที่แตกต่างและคล้ายคลึง กล่าวคือ อุปนิษัทกล่าวถึงการบูชา การประกอบพิธีกรรมต่างๆ และการอุทิศตนต่อพระเจ้าว่าเป็นวิธีที่จะทำให้บรรลุถึงโมกษะ แต่พระสุตตันตปิฎกคัดค้านความคิดเช่นนั้น แต่สิ่งที่คล้ายกันก็คือการเน้นการปฏิบัติสมาธิหรือการฝึกจิตที่อุปนิษัทเรียกว่า โยคะ (ชฺญานโยค) พระสุตตันตปิฎกก็เน้นการปฏิบัติสมาธิหรือการฝึกจิตที่เรียกว่า การปฏิบัติกรรมฐาน ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
|