การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษาแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต ๒ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ประธานคณะกรรมการจำนวน ๑๑๘ คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๑๑๘ คน ผู้แทนครู จำนวน ๑๑๘ คน รวมจำนวน ๓๕๔ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๕ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test (Independent samples) และ F - test (One way ANOVA)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. การมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต ๒ อยู่ในระดับมากทั้งในภาพรวมและรายด้าน ด้านการกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย รองลงมาคือ ด้านการออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดในการปฏิบัติคือ ด้านการจัดทำสาระของหลักสูตร
๒. การเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต ๒ จำแนกตามขนาดของสถานศึกษา พบว่า ในภาพรวมไม่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการจัดทำโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ส่วนด้านอื่นๆไม่แตกต่างกัน
๓. การเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต ๒ จำแนกตามสถานภาพ ไม่แตกต่างกันทั้งในภาพรวมและรายด้าน
๔. แนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต ๒ ได้แก่ สถานศึกษาควรให้คณะกรรมการสถานศึกษามีส่วนร่วมในการจัดหาเอกสารเกี่ยวกับหลักสูตร,การพัฒนาระบบการสนับสนุน,การจัดการหลักสูตรสถานศึกษา,การจัดทำโครงสร้างของหลักสูตร,การออกแบบการเรียนรู้,การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมาย, การออกแบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
|