การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารงานวิชาการของผู้บริหารและครู โรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ๒) เพื่อเปรียบเทียบการบริหารงานวิชาการของผู้บริหารและครู โรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะแนวทางในการบริหารงานวิชาการของผู้บริหารและครู โรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กับกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้บริหารและครู ในโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี จำนวน ๑๓๕ คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามโดยมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๙๒๗ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่และค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard Deviation) และสถิติเชิงอนุมานคือสถิติทดสอบค่าที (t-test) สถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way Analysis of Variance : ANOVA) และทำการทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีการผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Signincant Difference : LSD)
ผลการวิจัย พบว่า
๑) ผู้บริหารและครูมีความคิดเห็นต่อการบริหารงานวิชาการของผู้บริหารและครู โรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับตามค่าเฉลี่ยดังนี้ ด้านการจัดดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอน ด้านการวางแผนเกี่ยวกับงานวิชาการ ด้านการบริหารเกี่ยวกับการเรียนการสอน และด้านการวัดผลและประเมินผล ตามลำดับ
๒) การเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหารและครูที่มีต่อการบริหารงานวิชาการของผู้บริหารและครู โรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า ผู้บริหารและครูที่มีเพศ อายุ การศึกษา ตำแหน่ง และประสบการณ์การทำงานต่างกัน มีความคิดเห็นต่อการบริหารงานวิชาการ ของผู้บริหารและครู โรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรีไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
๓) ข้อเสนอแนะ คือ ควรมีการประชุมวางแผนงานกันเป็นประจำทุกภาคการศึกษา ควรเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานวิชาการ และควรเปิดโอกาสให้ครูผู้สอนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนการสอนให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ควรพัฒนาศักยภาพครูให้เท่าเทียมกันทุกด้าน ควรสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครูผู้สอน และควรเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ควรเพิ่มเติมสื่อการสอนให้แก่ครู ควรพัฒนาศูนย์กลางการเรียนรู้ภายในโรงเรียนให้หลากหลาย และควรเพิ่มตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาให้มากขึ้น และควรมีการสรุปผลการดำเนินงานเป็นข้อๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนในปัจจุบัน ควรหาเทคนิคการวัดผลและประเมินผลแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้เรียน และควรมีวิธีการในการให้คะแนนแบบหลากหลาย
|