การวิจัยเรื่อง แนวทางส่งเสริมบทบาทพระธรรมวิทยากรโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาบทบาทพระธรรมวิทยากรโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ๒) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของพระธรรมวิทยากรโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ๓) เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมบทบาทพระธรรมวิทยากรโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ ผู้ให้การสัมภาษณ์แก่ผู้ทำวิจัยซึ่งได้แก่ (๑)เจ้าของโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา(กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม) จำนวน ๒ คน (๒)พระธรรมวิทยากรโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา จำนวน ๔ รูป (๓)ผู้บริหารโรงเรียนที่อยู่ในโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา จำนวน ๔ คน (๔)นักเรียนที่อยู่สถานศึกษาโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา จำนวน ๑๖ คน
การวิจัยพบว่า พระธรรมวิทยากรโครงการคลินิกคุณธรรมมีความเข้าใจในหน้าที่ความรับผิดชอบตามวัตถุประสงค์โครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา ที่มีความสอดคล้องกับบทบาทพื้นฐานของโครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา เกี่ยวกับการให้คำปรึกษาหารือในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา สามารถพัฒนานักเรียนนักศึกษาอย่างรอบด้านและสมดุล ทำให้นักเรียนนักศึกษามีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ปฏิรูปการเรียนรู้ควบคู่กับการสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรม
เมื่อกล่าวถึงยุคข้อมูลข่าวสารและการค้าไร้พรมแดนเทคโนโลยีอันทันสมัยได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อปัญหาการขาดคุณธรรมจริยธรรมในเยาวชนนักเรียนนักศึกษาไทย ก่อให้เกิดปัญหาพฤติกรรมไม่ดีด้านต่าง ๆ กรมการศาสนาจึงดำเนินการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม แก่เด็ก เยาวชน ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม จัดตั้ง “โครงการคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา” โดยกำหนดบทบาทอย่างกว้างขวางในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ช่วยเหลือสงเคราะห์สังคม และมีพระธรรมวิทยากรเป็นบุคคลากรที่มีบทบาทในการปลูกฝังและเสริมสร้างศีลธรรม คุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนค่านิยมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแก่นักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา
บทบาทของพระธรรมวิทยากรประยุกต์และพัฒนาตามยุคสมัย ให้คำแนะนำให้การปรึกษาสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีปัญหาในรายบุคคล และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่นักเรียนนักศึกษาโดยรวมด้วยการอบรมหมู่ หรือจัดโครงการอบรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยใช้วิธีเทคนิควิธีการสอนแบบผสมผสานความเป็นพระสงฆ์และครูสอนเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและได้ผลยิ่งขึ้น นำพุทธวิธีต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนามาใช้ในการสั่งสอน การประชาสัมพันธ์ การให้คำปรึกษา เพื่อการพัฒนาและแก้ปัญหา บ้าน วัด โรงเรียน เป็นผู้ให้ด้วยศิลปะในการให้ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้นักเรียนนักศึกษา มีจิตสำนึกที่ดี ประสานสามัคคีในหมู่คณะเพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีกัน
แนวทางส่งเสริมบทบาทพระธรรมวิทยากรนั้นควร เพิ่มความสำคัญเพื่อส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ต่อสังคม จัดฝึกอบรม ถวายความรู้ในด้านต่าง ๆ แก่พระธรรมวิทยากร ควรจัดให้มีการวัดและประเมินผลพระธรรมวิทยากร โดยอาจใช้การสังเกตพฤติกรรมของพระธรรมวิทยากร หรือ วัดผลด้วยแบบทดสอบความรู้ และกรมการศาสนา สถานศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจัดอบรมถวายความรู้เกี่ยวกับการจัดทำสื่อและ เทคนิคการใช้สื่อการสอน แก่พระธรรมวิทยากรเพื่อให้พระธรรมวิทยากรได้พัฒนาตนเองและเป็นการยกระดับบทบาทของพระธรรมวิทยากร
|