การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาคุณธรรม ๘ ประการสำหรับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อคุณธรรม ๘ ประการสำหรับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการศึกษาคุณธรรม ๘ ประการสำหรับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ระดับ ปวช. ปี ๑ - ๓ จำนวน ๓๒๗ คน ได้มาโดยการเปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างสำเร็จรูปของ R.C.Krejcie and D.W.Morgan โดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณโดยการสำรวจ รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบโดยการทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยมีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference: LSD) และสรุปข้อมูลปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้
ผลการวิจัย พบว่า นักศึกษามีความคิดเห็น ต่อคุณธรรม ๘ ประการสำหรับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๗๕) เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน
ผลการเปรียบเทียบการศึกษาคุณธรรม ๘ ประการที่มีผลต่อนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ, ระดับการศึกษา, เกรดเฉลี่ย, ค่าใช้จ่ายต่อวัน, และอาชีพของผู้ปกครอง โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านก็พบว่าไม่แตกต่างกันตามนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๕ จึงปฎิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ แต่พบว่า ภาพรวมแตกต่างกัน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านก็พบว่าแตกต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐานการวิจัย เมื่อมองในภาพรวม ในด้านเกรดเฉลี่ย พบว่า ด้านความขยัน และด้านความสุภาพ พบว่าแตกต่างกันตามนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๑ และด้านความประหยัด และด้านความสะอาด พบว่าแตกต่างกันตามนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ และในด้านอาชีพของผู้ปกครอง พบว่าด้านความขยัน และด้านความประหยัด พบว่าแตกต่างกันตามนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
รูปแบบการประยุกต์ใช้หลักคุณธรรม ๘ ประการสำหรับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ แบ่งออกเป็น ๒ ขั้นตอน คือ ๑) การประยุกต์ใช้หลักคุณธรรม ๘ ประการ และ๒) การสอนนักศึกษาให้มีคุณธรรม ซึ่งอธิบายในรายละเอียด ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ ประยุกต์ใช้หลักคุณธรรม ๘ ประการสำหรับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ทั้ง ๘ ด้าน คือ ด้านความขยัน ด้านความประหยัด ด้านความซื่อสัตย์ ด้านความมีวินัย ด้านความสุภาพ ด้านความสะอาด ด้านความสามัคคี ด้านความมีน้ำใจ มากำหนดเป็นรูปแบบของวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยนำไปใช้กับผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และนักศึกษา ขั้นตอนที่ ๒ การสอนนักศึกษาให้มีคุณธรรม เป็นขั้นตอนสูงสุดของการประยุกต์ใช้หลักคุณธรรม ๘ ประการสำหรับนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อผ่านขั้นตอนที่ ๑ และถึงขั้นตอนที่ ๒ แล้วจะสามารถสร้างระดับความเห็นสูงสุดแก่นักศึกษาได้
|