การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารโรงเรียนของโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๓ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นตามหลักสันโดษของผู้บริหารสถานศึกษาต่อการบริหารโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียน และ ๓) เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียนตามหลักสันโดษ
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างคือผู้บริหารสถานศึกษาของโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครสวรรค์ เขต ๓ ผู้วิจัยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยการเปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างสำเร็จรูปของ R.V.Krejcie และ D.W.Morgan ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๙๗ คน ผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยใช้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยมีค่าความเชื่อเท่ากับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม การทดสอบค่า F-test หรือการทดสอบการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) ซึ่งเป็นการทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Lest Significant Difference : LSD) และสรุปข้อมูลปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล
ผลการวิจัย พบว่าผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครสวรรค์ เขต ๓ เพศชายมากที่สุดเป็นจำนวน ๘๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๖๐ รองลงมาคือเพศหญิง จำนวน ๑๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๔ มีอายุระหว่าง ๓๖ – ๕๐ ปี และอายุมากกว่า ๕๐ ปีขึ้นไป จำนวน ๔๗ คนเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ ๔๘.๕ เรียงลำดับรองลงมาคือ อายุ ๒๐ – ๓๕ ปี จำนวน ๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๓.๑ ด้านระดับการศึกษา พบว่า วุฒิการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี มากที่สุด เป็นจำนวน ๙๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๙๒.๘ รองลงมา คือวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นจำนวน ๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๗.๒ มีประสบการณ์ในการรับราชการ ๑๑ ปีขึ้นไป จำนวน ๘๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๙๑.๘ รองลงมาคือระหว่าง ๕ – ๑๐ ปี เป็นจำนวน ๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๗.๒ และต่ำกว่า ๕ ปี จำนวน ๑ คน น้อยที่สุด คิดเป็น ร้อยละ ๑.๐
เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นตามหลักสันโดษของผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียน พบว่า เพศ อายุ และระดับการศึกษาที่แตกต่างกันมีความคิดเห็นตามหลักสันโดษต่อการบริหารโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียนไม่แตกต่างกัน มีเพียงประสบการณ์การปฏิบัติงานที่มีผลต่อการบริหารโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียนตามหลักสันโดษ ที่ระดับนัยสำคัญที่ .๐๕
แนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้นเรียนตามหลักสันโดษ มีดังนี้ ๑) การบริหารโรงเรียนตามหลักยถาลาภสันโดษ มีการวางแผน มีกระบวนการในการบริหารงานโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการระดมทุนและงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการต่างๆ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาองค์กร ๒) การบริหารโรงเรียนตามหลักยถาพลสันโดษ โดยศึกษาวิเคราะห์สภาพของโรงเรียนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมภายนอกและภายในของโรงเรียน มีการวางแผนกระบวนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลโดยให้มีความสอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ และเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงเรียน ๓) การบริหารโรงเรียนตามหลักยถาสารุปสันโดษ มีการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ร่วมงานโดยเฉพาะผู้ที่ทำประโยชน์และอุทิศเวลาให้แก่สถานศึกษา มีการระดมทรัพยากรที่เหมาะสมมาใช้กับโรงเรียนโดยคำนึงบริบทและความพร้อมของโรงเรียนเป็นหลัก
|