การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรต่อการบริหารจัดการที่พึงประสงค์ของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ตามหลักอิทธิบาท ๔ ๒) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการบริหารจัดการที่พึงประสงค์ของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ตามหลักอิทธิบาท ๔ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ ๓) เพื่อหาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการที่พึงประสงค์ของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ตามหลักอิทธิบาท ๔ โดยเลือกผู้บริหาร คณาจารย์ของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ จำนวน ๓๑ รูป/คน ใช้ระเบียบวิจัยผสมผสานวิธี (Mixed Methods Research) มีการใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๒๘ คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ เพื่อให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับข้อมูล ที่ได้รวบรวมมา สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล โดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบโดยการทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test )และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA ) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD ) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท และข้อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้
ผลการวิจัย พบว่า ผู้บริหารและคณาจารย์มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการที่พึงประสงค์ของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ตามหลักอิทธิบาท ๔ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๗๗) เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน พบว่า อยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณายังพบว่า ด้านวิริยะและด้านวิมังสา อยู่ในระดับปานกลาง
เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหารและคณาจารย์มีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการที่พึงประสงค์ของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ตามหลักอิทธิบาท ๔ พบว่า เพศ สถานภาพการครองเพศ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน และบทบาทหน้าที่ในสถานศึกษา โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านก็พบว่าไม่แตกต่างกัน จึงปฎิเสธสมมติฐานการวิจัยเมื่อมองในภาพรวม และแบ่งเป็นกลุ่มตามปัจจัยส่วนบุคคล คือ ด้านเพศ,ด้านสถานภาพการครองเพศ, ด้านอายุ,ด้านวุฒิการศึกษา, ด้านประสบการณ์ทำงาน, ด้านบทบาทหน้าที่ในสถานศึกษา ก็พบว่าไม่แตกต่างกันตามนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๕ จึงปฎิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ และยังพบว่าด้านสถานภาพการครองเพศ คือ ในด้านจิตตะ เมื่อพิจารณายังพบว่าแตกต่างกันตามนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๑ จึงยอมสมมติฐานที่ตั้งไว้
แนวทางการพัฒนาในการบริหารจัดการที่พึงประสงค์ของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ตามหลักอิทธิบาท ๔ ซึ่งมีบุคลากรเป็นผู้ปฏิบัติงานทั้งงานในหน้าที่ และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยอาศัยกรอบการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ได้แก่ ด้านฉันทะ ด้านวิริยะ ด้านจิตตะ และด้านวิมังสา เมื่อผ่านกรอบการปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท ๔ เรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ โดยขั้นตอนนี้จะเป็นการบริหารวิชาการซึ่ง หมายถึงการตรวจรูปแบบ วัตถุประสงค์ ผลที่คาดว่าจะได้รับ และประโยชน์ของการดำเนินงาน หากผลที่ได้รับผ่านทุกหลักเกณฑ์และคุ้มค่าต่อการปฏิบัติ ก็จะนำผลงานที่ได้รับไปประยุกต์และพัฒนาให้ใช้งานได้จริง ให้เกิดผลจริง ตรงกันข้ามหากผ่านขั้นตอนการวิเคราะห์งานแล้ว ผลที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการปฏิบัติ บุคลากรก็จะต้องนำงานกลับมาปรับปรุง/แก้ไข เพื่อทบทวนหาข้อผิดพลาด โดยผ่านกรอบการดำเนินงานตามหลักอิทธิบาท ๔ ทำเช่นนี้จนกว่าผลลัพธ์นั้นจะออกมามีประสิทธิภาพ เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานจริง อนึ่ง หากบุคลากรใช้ความละเอียดอ่อนในการปฏิบัติงานตามหลักอิทธิบาท ๔ อย่างมีสติ ผลงานที่ได้รับก็จะประสบความสำเร็จมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
การบริหารจัดการที่พึงประสงค์ของวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ควรประกอบด้วยหลักธรรมดังต่อไปนี้ ๑)มีใจ ๒)ใช้ปัญญา ๓)เสียสละ ๔)อดทน และ ๕)กตัญญูกตเวที
ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่บุคลากรควรมีความต้องการใฝ่ใจรักที่จะปฏิบัติงานอยู่เสมอ ปรารถนาที่จะปฏิบัติงานให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป มีความขยัน หมั่นประกอบการงานด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ท้อถอยต้องตั้งจิตรับรู้ในภารกิจที่ได้รับมอบหมายโดยการปฏิบัติงานด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป อุทิศตัวอุทิศใจให้แก่งานที่ปฏิบัติอย่างแท้จริง และหมั่นใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญ ตรวจตราหาเหตุผล ตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในงานนั้นๆ ที่สำคัญต้องรู้จักการวางแผนงาน วัดผลและคิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงงานให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา
|