การวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาบทบาทของผู้บริหารกับการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ๒) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครู จำนวน ๑๖๐ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
๑. บทบาทของผู้บริหารกับการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน และเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยตามค่าเฉลี่ย คือ การดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา การทำแผนพัฒนามาตรฐานการศึกษา การจัดระบบการบริหารสารสนเทศ การพัฒนามาตรฐานการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษา การรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี และการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา ตามลำดับ
๒. ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
๒.๑ ปัญหา อุปสรรคการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาด้านการจัดระบบการบริหารสารสนเทศ คือ การจัดระบบการบริหารสารสนเทศยังไม่เป็นปัจจุบันไม่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ที่ดี, ด้านการพัฒนามาตรฐานการศึกษา คือการมีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานการศึกษายังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม, ด้านการทำแผนพัฒนามาตรฐานการศึกษา คือ มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิเคราะห์ปัญหา/อุปสรรคของปีที่ผ่านมาค่อนข้างน้อย ด้านการดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา คืองบประมาณมีไม่เพียงพอ, ด้านการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา คือ มีการนำผลตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษามาใช้ในการพัฒนา/ปรับปรุงยังมีค่อนข้างน้อย, ด้านการประเมินคุณภาพการศึกษา คือ การประเมินคุณภาพการศึกษายังไม่สามารถสะท้อนความสามารถของนักเรียนได้อย่างแท้จริง และด้านการรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี คือ การนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษายังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร
๒.๒ ข้อเสนอแนะในการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษาด้านการจัดระบบการบริหารสารสนเทศ คือแต่งตั้งทีมงานสารสนเทศให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระ/ทุกฝ่าย, ด้านการพัฒนามาตรฐานการศึกษา คือหาวิธีการ/รูปแบบต่างๆ ในการจัดทำมาตรฐาน ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง, ด้านการทำแผนพัฒนามาตรฐานการศึกษา คือ จัดทำแผนร่วมกันโดยนำข้อมูลในปีที่ผ่านมาร่วมวิเคราะห์ด้วย ด้านการดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา คือ จัดหางบพิเศษสนับสนุนการดำเนินโครงการ, ด้านการตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษา คือ จัดระบบการตรวจสอบ ทบทวนคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบมีความต่อเนื่อง, ด้านการประเมินคุณภาพการศึกษา คือ จัดประชุมเพื่อกำหนดรูปแบบและเกณฑ์การประเมินให้เหมาะสมตามสภาพจริง, ด้านการรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี คือ ดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบ นำเสนอข้อมูลที่เหมาะสม กำกับติดตาม ยอมรับการนำเสนอข้อมูลตามความเป็นจริง และควรเผยแพร่ข้อมูลผลการดำเนินงานให้กว้างขวางอย่างหลากหลาย
|