การวิจัยเรื่อง ศึกษาสภาพการสอนศีลธรรมของครูโรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาระดับสภาพการสอนศีลธรรมของครูโรงเรียนเทพศิรินทร์ ๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการสอนศีลธรรมของครูโรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี และกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน ๒๓๕ คน ใช้แบบสอบถามรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์ข้อมูลหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์หาค่า t-test ความแปรปรวนทางเดียว f-test (One-way analysis of variance)
ผลการวิจัย พบว่า
การวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการสอนศีลธรรมของครู โดยภาพรวม ๕ ด้าน อยู่ในระดับมาก เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย และข้อที่มีลักษณะเด่น คือ ด้านการอบรมสั่งสอน ครูเอาใจใส่ดูแลพฤติกรรมทางศีลธรรมนักเรียนใช้วิธีการลงโทษเหมาะสม มีการปรับเปลี่ยนแนวความคิดนักเรียนให้สอดคล้องกับศีลธรรม จัดให้มีการอบรมมารยาทตามประเพณีไทยแก่นักเรียนให้สามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ ด้านการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ครูรักษาความสะอาดด้านการแต่งกายที่สุภาพกล่าววาจาที่สุภาพเป็นแบบอย่างที่ดีประพฤติตนต่อหน้าลับหลัง มีความซื่อสัตย์สุจริต ด้านความมีเมตตา ครูมีการแบ่งปันสิ่งของแก่เพื่อครู ให้อาหารแก่สัตว์ด้วยความเมตตาปฏิบัติตนที่ดี แสดงความยินดีกับนักเรียนให้ความเคารพผู้มีพระคุณเสมอ ด้านบรรยากาศการเรียนการสอน ครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกในการเรียนรู้มีสื่อการเรียนการสอนมีความน่าสนใจ มีการวางแผนเตรียมการจัดการเรียนการสอนทุกครั้ง ด้านการติดตามผลและประเมินผล ครูตรวจผลงานการบันทึกในสมุดศีลธรรมนักเรียน ช่วยประเมินผลเพื่อนเพื่อปรับปรุงแก้ไขมีการประเมินและติดตามผลการเรียนตรงตามวัตถุประสงค์
ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนมัธยมศึกษาต่อการสอนศีลธรรมของครูหาค่าความแปรปรวนทางเดียว One–Way ANOVA โดยภาพรวม ตามเพศ ชาย หญิง จำนวน ๒๓๕ คน พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นต่อที่มีต่อการสอนศีลธรรมที่ไม่แตกต่างกันอย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๕ และเปรียบเทียบตามอายุ นักเรียนมีความคิดเห็นต่อการสอนศีลธรรมที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ๐.๐๑
แนวทางการสอนศีลธรรมของครู คือ ด้านการอบรมสั่งสอน ควรมีแนวทางการปลูกฝังศีลธรรมชัดเจน ด้านการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีการปฏิบัติธรรมทั้งครูนักเรียนและผู้ปกครองในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ด้านเมตตา ควรมีกิจกรรมการเรียนที่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ด้านบรรยากาศการเรียนการสอน ควรมีการจัดบรรยากาศที่เหมาะสมเพื่อให้เอื้อต่อการเรียนรู้ศีลธรรมให้คิดเป็น ทำเป็นและแก้ปัญหาเป็น ด้านการติดตามผลและประเมินผล มีวิธีการวัดและประเมินผลตามสภาพความเป็นจริง
|