การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาหลักพรหมวิหาร ๔ ที่สอดคล้องกับผู้บริหารกับการจัดการทรัพยากรบุคคลของสถานศึกษา ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของทรัพยากรบุคคลของสถานศึกษาในการนำหลักพรหมวิหาร ๔ ไปใช้ในสถานศึกษา จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้การจัดการทรัพยากรบุคคลของสถานศึกษาตามหลัก พรหมวิหาร ๔
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงผสม (Mixed Methods Research) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) กลุ่มตัวอย่างคือผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรของสถานศึกษา ผู้วิจัยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยการเปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างสำเร็จรูปของ R.V.Krejcie และ D.W.Morgan ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๖๗ คน ผู้วิจัยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยใช้เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยมีค่าความเชื่อเท่ากับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) ใช้ทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่ม การทดสอบค่า F-test หรือการทดสอบการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) ซึ่งเป็นการทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยตั้งแต่สามกลุ่มขึ้นไป รวมทั้งการทดสอบการเป็นอิสระ (ײ-test of Independent) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Lest Significant Difference : LSD) และสรุปข้อมูลปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา อายุระหว่าง ๔๐-๔๙ ปี มากที่สุด เป็นจำนวน ๖๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๐.๑ รองลงมาคืออายุ ๕๐-๕๙ ปี มีจำนวน ๖๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๓๗.๑ ระหว่างอายุ ๓๑-๓๙ ปี จำนวน ๒๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๒ และอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี มีจำนวน ๑๑ คน น้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ ๖.๖ ด้านวุฒิการศึกษาพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรของสถานศึกษา มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี มากที่สุด เป็นจำนวน ๑๔๓ คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๖ รองลงมา คือวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นจำนวน ๒๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๘ และมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก เป็นจำนวน ๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๐.๖ ด้านประสบการณ์การปฏิบัติงานพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา มีประสบการณ์การปฏิบัติงาน ๒๑ ปีขึ้นไป มากที่สุดเป็นจำนวน ๗๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๔.๓ รองลงมาคือระหว่าง ๑๖-๒๐ ปี เป็นจำนวน ๔๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๔.๖ ไม่เกิน ๕ ปี เป็นจำนวน ๒๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๘ ระหว่าง ๑๑-๑๕ ปี เป็นจำนวน ๑๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๒ และ ระหว่าง ๖-๑๐ ปี เป็นจำนวน ๑๒ คน น้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ ๗.๒ และด้านตำแหน่งหน้าที่พบว่า ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา มีตำแหน่งหน้าที่ ครู มากที่สุดเป็นจำนวน ๑๔๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๗.๖ รองลงมาคือผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นจำนวน ๑๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๗.๘ บุคลากร/เจ้าหน้าที่ เป็นจำนวน ๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๔.๒ และรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นจำนวน ๑ คน น้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ ๐.๖
เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา ตามหลักพรหมวิหาร ๔ พบว่า เพศ , วุฒิการศึกษาและตำแหน่งหน้าที่ที่แตกต่างกันมีความคิดเห็นต่อผู้บริหารกับการจัดการทรัพยากรบุคคลของสถานศึกษาระดับประถมศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ไม่แตกต่างกัน มีเพียงอายุและประสบการณ์การปฏิบัติงานที่มีผลต่อระดับความคิดเห็นต่อผู้บริหารกับการจัดการทรัพยากรบุคคลของสถานศึกษาระดับประถมศึกษาตามหลักพรหมวิหาร ๔ ที่ระดับนัยสำคัญที่ .๐๕
ความคิดเห็นของบุคลากรทางการศึกษาที่มีต่อแนวทางการพัฒนา พบว่า ด้านเมตตา ผู้บริหารควรแสดงความปรารถนาดีต่อบุคลากรอย่างเปิดเผยและเที่ยงธรรม, ด้านกรุณา ผู้บริหารต้องเอาใจใส่ดูแลเมื่อบุคลากรมีความเดือดร้อน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน, ด้านมุทิตา ผู้บริหารควรแสดงความยินดีต่อบุคลากร โดยไม่เลือกปฏิบัติ มีความเต็มใจที่จะสนับสนุนบุคลากร ด้วยความเสมอภาคและด้านอุเบกขา ผู้บริหารควรมีการวางตัวเป็นกลาง ใช้เหตุผล มีความเที่ยงธรรมไม่เอนเอียง
|