การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้แนวคิดการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ การวิจัยครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้เป็นลูกจ้างประจำ ข้าราชการ และ คณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน ๑๕๐ คน โดยใช้วิธีสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Radom Sampling) มีแบบสอบถามเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (T-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยมีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD) เครื่องมือที่ใช้ในการซึ่งมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประเมินค่า ๕ ระดับและคำถามแบบปลายเปิด ค่าความเชื่อมั่นแบบสอบถามที่ใช้ในการวิจัยเท่ากับ ๐.๖๕๔.
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
ความคิดเห็นบุคลากรมีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (x ̅ = ๓.๓๗) เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน พบว่า การจัดการความรู้ด้านสมาธิอยู่ในระดับมาก (x ̅ = ๓.๕๔)
การเปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล โดยภาพรวมไม่แตกต่างกัน ซึ่งไม่เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า บุคลากรที่มีเพศต่างกัน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการความรู้โดยใช้หลักไตรสิกขาของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ในด้านปัญญาไม่แตกต่างกันที่นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
บุคลากรที่มีอายุต่างกันมีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ในภาพรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ซึ่งตรงตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
บุคลากรที่มีระดับการศึกษาต่างกันมีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ โดยภาพรวมไม่แตกต่างกันที่นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ จึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
บุคลากรที่มีตำแหน่งต่างกันมีความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ โดยภาพรวมไม่แตกต่างกันจึงปฏิเสธสมมติฐานการวิจัย
แนวทางการประยุกต์ใช้แนวคิดการบริหารจัดการองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา ของ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ กระบวนการจัดการความรู้ที่ประกอบด้วยการบ่งชี้ความรู้ การสร้างและแสวงหาความรู้ การจัดความรู้ให้เป็นระบบ การประมวลและกลั่นกรองความรู้ การเข้าถึงความรู้ การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ และการเรียนรู้นั้นจะต้องนำหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าไปแทรกอยู่ในกระบวนการจัดการความรู้ทุกขั้นตอน เพราะกระบวนการจัดการความรู้ตามกระบวนการของนักวิชาการนั้นเป็นกระบวนการที่สิ้นสุดที่การเรียน โดยเน้นแต่สิ่งที่เรียนรู้เท่านั้น บางครั้งอาจไม่ต่อเนื่อง แต่กระบวนการไตรสิกขานั้นไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และจะนำไปสู่การจัดการความรู้โดยใช้หลักไตรสิกขาอย่างมั่นคงและยั่งยืน
|