วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาพฤติกรรมสุขภาพของพระสงฆ์ในอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร (๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพของพระสงฆ์ในอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร (๓) เพื่อนำเสนอแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ในอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร การดำเนินการวิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ พระสงฆ์ในอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร จำนวน ๓๐๐ รูป ๔๔ วัด ๑๘ ที่พักสงฆ์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประเมินค่า (Rating Scale) สอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดย การหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานการทดสอบค่า ที (t –test) และค่าเอฟ (f–test)
ผลการวิจัยพบว่า
การปฏิบัติตัวเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพของพระสงฆ์ในอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๔๓ เมื่อพิจารณารายด้าน การรับรู้ด้านอารมณ์ของพระสงฆ์ อยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๗๖ และด้านที่มีการรับรู้น้อยที่สุด คือ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๒๙
การเปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพของพระสงฆ์ในเขตอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร โดยจำแนกตามอายุที่ต่างกันมีพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพ ไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ จำแนกตามพรรษาที่ต่างกันมีพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพ ต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ .๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ จำแนกตามระดับการศึกษาที่ต่างกันมีพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพ ไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ จำแนกตามสถานที่พักอาศัยที่ต่างกันมีพฤติกรรมในการปฏิบัติตัวในการดูแลสุขภาพ ไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
ข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหา พฤติกรรมสุขภาพของพระสงฆ์ในอำเภอ
พังโคน จังหวัดสกลนคร จึงควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม และควรจัดสภาพแวดล้อมในบริเวณวัดให้มีสภาพแวดล้อมที่บริสุทธิ์ เป็นเขตปลอดบุหรี่และอบายมุขทั้งปวง จัดให้มีการถวายความรู้เรื่องพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองในวิถีทางที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การออกกำลังกาย และการเลือกฉันภัตตาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยการจัดทำคู่มือสุขภาพ สื่อประชาสัมพันธ์ หรือจัดตั้งศูนย์สุขภาพพระสงฆ์ ภายในวัดของเจ้าคณะผู้ปกครองในแต่ละจังหวัด เพื่อให้ได้แนวทางในการวางแผนพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของพระสงฆ์ที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
|