การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเป็นแบบผสมผสาน (Mixed Method Research) ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยแวดล้อม และ๓) เพื่อทราบปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ประชากรได้แก่คือผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้แทนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านคลองใหม่ จำนวน ๖๑๘ ครัวเรือน เปิดตารางสำเร็จรูปของเครซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๒๓๔ ตัวอย่าง และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) ได้แก่ผู้บริหารชุมชน นักพัฒนาชุมชน และผู้นำกลุ่มในชุมชน การวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์สถิติทางสังคมศาสตร์ เพื่อหาค่าสถิติต่างๆ ในส่วนข้อมูลจากแบบสอบถามปลายเปิด และข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก ใช้วิธีจัดกลุ่มข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ (Data Grouping) จากนั้นจึงนำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Technique)
ผลการวิจัย พบว่า
๑. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านคลองใหม่ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทั้ง ๔ ด้าน โดยด้านที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด คือ ด้านการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
๒. การเปรียบเทียบระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านคลองใหม่ จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคลและปัจจัยสภาพแวดล้อม พบว่า โดยภาพรวม ประชาชนที่มี เพศ อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพ ต่างกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยภาพรวมไม่ต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้ ขณะที่ประชาชนที่มี รายได้ต่อเดือน ระยะเวลาการอาศัยอยู่ในชุมชน สถานภาพในชุมชน และการเข้าร่วมกลุ่มในชุมชน ต่างกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยภาพรวมต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านคลองใหม่ พบว่า อุปสรรค หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นได้ร่วมกับชุมชนในการแก้ปัญหาต่างๆ เริ่มตั้งแต่ให้ประชาชนร่วมรับรู้ รับทราบ ร่วมวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้นๆร่วมกันเป็นอย่างดี
อนึ่ง ชุมชนมีรวมกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เป็นเครือข่ายประชาชน เครือข่ายกลุ่มกิจกรรมในชุมชน ทำให้สะดวกต่อการติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารชุมชน ผู้นำชุมชน พัฒนากร องค์การบริหารส่วนตำบล มีบทบาทเป็นผู้ให้การส่งเสริม สนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ เช่น การสนับสนุนวิทยากรให้ความรู้ การสนับสนุนงบประมาณ การสนับสนุนผลผลิตหรือผลงานที่เกิดขึ้น อีกทั้งมีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน โดยการรวมกลุ่มกิจกรรมเป็นเครือข่ายชุมชนและการมีส่วนร่วมที่ดีของประชาชน ส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ คือ ด้านการพัฒนาคน ด้านการพัฒนาพื้นที่ ด้านการพัฒนาแหล่งรายได้ และด้านการพัฒนาแผนชุมชน ประโยชน์เกิดขึ้นแก่ชุมชน แก่ประชาชนในชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านต่างๆ ที่เป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและตรงประเด็นความต้องการ หรือปัญหาของชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ชุมชนบ้านคลองใหม่นับว่าแบบอย่างการพัฒนาชุมชนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่เหมาะสมแก่สังคมไทยตามบริบทชุมชนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้
|